นายธานี มณีนุตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (COO) บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล หรือ PRINC ผู้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชน และธุรกิจสุขภาพในนาม 'เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์' กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ 12 แห่งใน 10 จังหวัด ร่วมมือกับภาครัฐ รับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ตามสิทธิ์การรักษา โดยโรงพยาบาลในเครือฯ เร่งเพิ่มศักยภาพรองรับผู้ป่วยทั้งประเทศล่าสุด (ณ 10 ม.ค. 65) ไม่ต่ำกว่า 3,000 เตียง โดยเฉพาะในพื้นที่การระบาดและโรงพยาบาลในเครือตั้งอยู่
อาทิ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ปัจจุบันมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ต่ำกว่า 200 เตียง ในจำนวนนี้มีวอร์ดสำหรับดูแลผู้ป่วยวิกฤต (ICU) 61 เตียง พร้อมรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง-สีแดงเข้ม ขณะเดียวกันยังมีฮอสพิเทลให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 5 แห่ง รวม 995 เตียง ได้แก่ โรงแรม Gold Airport Suites ขนาด 177 เตียง, โรงแรม Blue Sky Residence Airport ขนาด 225 เตียง, โรงแรม Lasantel Bangkok 224 เตียง, โรงแรม Clef 194 เตียง และโรงแรม Theorie ขนาด 175 เตียง
ขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันมีฮอสพิเทล 1 แห่ง ขนาด 200 เตียงและโรงพยาบาลสนาม ซึ่งตั้งอยู่พื้นที่ภายในโรงพยาบาล 70 เตียง หากผู้ป่วยเต็มยังสามารถขยายเพิ่มได้อีก 40 เตียง นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ที่พร้อมรองรับผู้ป่วยอีก 40 เตียง ส่วนพื้นที่ภาคใต้ โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร มีการสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาลจำนวน 40 เตียง ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ปัจจุบันมีฮอสพิเทล 3 แห่งรวม 142 เตียง และอยู่ระหว่างดำเนินการเปิดฮอสพิเทลเพื่อรองรับผู้ป่วยอีก 2 แห่ง
นอกจากนี้ผู้ป่วยที่อาการกลุ่มสีเขียวในเขตกรุงเทพฯ คลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ คลินิกชุมชนอบอุ่นในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ 16 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังร่วมมือกับ สปสช. รับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการและแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ศักยภาพการรองรับไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย โดยมีระบบการติดตามรักษาผู้ป่วยโดยบุคลากรการแพทย์ทุกวัน จัดส่งเวชภัณฑ์ที่จำเป็นถึงบ้าน และส่งอาหาร 3 มื้อในระหว่างการรักษาตัวที่บ้าน
ส่วนกลยุทธ์ในการควบคุมโรคในขณะนี้ โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ได้เร่งขยายการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ทั้งผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีน หรือเคยรับมาแล้วและประสงค์รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งวัคซีนภาครัฐ ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่าย และวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นาที่จะทยอยเข้ามาในไทยภายในเดือนมกราคม 2565 อีกรวม 3.7 ล้านโดส ปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่องทุกวันไม่เว้นวันหยุด
"คาดว่าสถานการณ์การระบาดในปัจจุบันยังเป็นสายพันธุ์เดลต้าเป็นสัดส่วนหลัก แต่เชื่ออีกไม่นานสายพันธุ์โอไมครอนจะเพิ่มขึ้นจนเป็นสัดส่วนหลัก และสถานการณ์การระบาดมีโอกาสลากยาวไปจนถึงกลางปี ดังนั้นกลยุทธ์สำคัญในการรับมือการระบาดของสถานพยาบาลขณะนี้ เร่งขยายศักยภาพการให้บริการรักษา ผ่านคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งเป็นเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่น สปสช. รับดูแลผู้ป่วยแบบ HI ตามนโยบายรัฐ ขณะเดียวกันขยายศักยภาพการรองรับและให้บริการของโรงพยาบาลทุกแห่ง สำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยกรณีอาการหนัก โดยใช้เทคโนโลยีการแพทย์ ผสานเครือข่ายบุคลากรการแพทย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้การดูแลรักษาทั่วถึง", นายธานี กล่าว