มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จับมือ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นมหาวิทยาลัย 5G แห่งแรกของอาเซียนโดยก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การศึกษาและจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G กับ สำนักงานคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของการให้บริการโทรคมนาคม ที่จะสามารถส่งข้อมูลขนาดใหญ่ ผ่านทางโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สายในระบบ 5G มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562 และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2564 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเตรียมความพร้อมการให้บริการโทรคมนาคมในระบบ 5G ในประเทศไทย และเป็นการวางรากฐานที่เข้มแข็งเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยี 5G โดยอาศัยกลไกการสร้างความร่วมมือ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ทางวิชาการระหว่างกับหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมและความก้าวหน้าทางบุคลากรและเทคโนโลยีดิจิทัล
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเป้าหมายสำคัญ คือการสร้างขีดความสามารถใหม่ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งศาสตรจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวในงานสัมมนา "Digital Transformation for Future University" ก่อนหน้านี้ว่า มหาวิทยาลัยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนโครงการที่ทางมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นและได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่น ระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของคณาจารย์และนักศึกษา ศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทักษะให้กับอาจารย์โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญ วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต แพลตฟอร์มเพื่อเปิดกว้างให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้โดยตลอด ศูนย์บริการประมวลข้อมูลสมรรถนะสูง เป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลสนับสนุนสำหรับงานวิจัย รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่ใช้ในการบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัยเช่น การขอเอกสารสำคัญทางการศึกษาที่สามารถยื่นขอทางออนไลน์ได้ หรือการจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมถึงใช้ในการวางแผน วิเคราะห์ และตัดสินใจที่สำคัญทางด้านการบริหาร และรองรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย โดยได้ขยายเครือข่ายไร้สายกว่า 7,000 จุด ครบทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย
สำหรับแผนพัฒนามหาวิทยาลัยฉบับที่ 13 จะเป็นการมุ่งเน้นไปที่การขจัดแก้ปัญหาของสังคมและของโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยจะสามารถตอบสนองความท้าทายนี้ได้ดีกว่าเดิม ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถใหม่ๆ ให้กับองค์กรโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนนำมาช่วยขับเคลื่อนพันธกิจตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้สร้างแพลตฟอร์มเพื่อเป็นต้นแบบสำคัญ เช่น การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะในทุกมิติควบคู่กับการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ มุ่งให้เกิดความยั่งยืนและความเป็นเลิศแก่ประชากรในจังหวัด อีกทั้งในด้านการแพทย์ ได้นำเทคโนโลยี 5G มาใช้เป็นต้นแบบของโรงพยาบาลอัจฉริยะ เป็นต้น
การร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จะก้าวไปข้างหน้าและไม่หยุดพัฒนา ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สามารถเพิ่มคุณค่าให้แก่ทรัพยากรมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมในที่สุด และพร้อมเผชิญไปกับโลกอนาคตอย่างแท้จริง