ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นตั๋วแลกเงินของ บมจ. เอสโซ่ (ประเทศไทย) ที่ระดับ 'F2(tha)'

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 13, 2022 09:55 —ThaiPR.net

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ของโปรแกรมการออกตั๋วแลกเงินมูลค่าไม่เกินหนึ่งหมื่นสองพันล้านบาท อายุไม่เกิน 270 วัน ซึ่งสามารถออกหมุนเวียนใหม่ได้ ของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ Esso ที่ระดับ 'F2(tha)'

อันดับเครดิตของบริษัทฯ สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า บริษัทฯ จะมีกระแสเงินสดจากดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2564-2566 จากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของอุปสงค์น้ำมันและสัดส่วนกำไรต่อรายได้ ถึงแม้ว่าจะยังคงมีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส และบริษัทฯ จะยังคงมีสัดส่วนหนี้สินที่สูงอยู่ในช่วงสองปีข้างหน้า ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง จากการสนับสนุนทางการเงินจาก กลุ่มบริษัท ExxonMobil

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
กำไรที่ฟื้นตัว: ฟิทช์ประมาณการว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ Esso ในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีผลมาจากกำไรจากมูลค่าสต๊อกน้ำมัน (Stock gains) ที่มาก เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยค่าการกลั่นรวมกำไรมูลค่าสต๊อกน้ำมันของบริษัทฯ ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2564 จากที่ติดลบ 3.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงปี 2563 ซึ่งทำให้บริษัทฯ มี EBITDA จำนวน 6.3 พันล้านบาท ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2564

ฟิทช์คาดว่า ปริมาณการใช้น้ำมันภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 จากที่ลดลงในปี 2564 แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ที่อาจทำให้มีการจำกัดการเดินทางเพิ่มเติม และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของตลาด ฟิทช์ประมาณการว่า EBITDA ของ Esso น่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3 ถึง 4 พันล้านบาทต่อปี หลังจากปี 2564 บนสมมุติฐานที่ค่าการกลั่นในช่วงกลางวัฏจักรของธุรกิจ (Mid cycle) ที่ไม่รวมกำไรมูลค่าสต๊อกน้ำมัน ที่ระดับ 4.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

อัตราส่วนหนี้สินที่สูง:ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน(FFO Net Leverage) ของ Esso จะยังอยู่ในระดับที่สูง ที่ประมาณ 6.5 ถึง 7.5 เท่าในช่วงสองปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวน่าจะลดลงชั่วคราว มาอยู่ที่ระดับประมาณ 4 เท่าในปี 2564 จาก EBITDA ที่สูง เนื่องจากกำไรจากมูลค่าสต๊อกน้ำมัน

ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในระดับปานกลาง: บริษัทฯ จะยังคงดำเนินการตามแผนการขยายสถานีบริการน้ำมันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า และมีค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาทั่วไป ทั้งนี้บริษัทฯ มีแผนลงทุนในการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันเพื่อรองรับมาตราฐานยูโร 5 ซึ่งการลงทุนดังกล่าว น่าจะอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก ฟิทช์คาดว่า Esso จะมีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน อยู่ที่ระดับประมาณ 1.3 พันล้านบาท ต่อปี ในช่วงปี 2564-2566 (ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 0.9 พันล้านบาท) โดยแผนการลงทุนของบริษัทน่าจะมีความยืดหยุ่นอยู่บ้าง

ความสัมพันธ์กับบริษัทแม่: ฟิทช์เชื่อว่า บริษัทแม่ ซึ่งได้แก่บริษัท เอ็กซอนโมบิลคอร์ปอเรชั่น (ExxonMobil) และกลุ่มบริษัทในเครือ มีแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนแก่ Esso ในระดับปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) โดยโรงกลั่นน้ำมันของ Esso มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของกลุ่มในภูมิภาคเอเซีย และบริษัทฯ มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของกลุ่ม แม้ว่าสัดส่วนกำไรจากบริษัทฯ ที่ให้กับกลุ่มอยู่ในระดับที่น้อยมาก

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัท ExxonMobil มีการสนับสนุนทางการเงินที่ดีอย่างต่อเนื่องให้แก่ Esso โดยบริษัทฯ มีเงินกู้ยืมจากภายในกลุ่มในสัดส่วนที่สูง ที่ร้อยละ 60-70 ของหนี้สินทั้งหมด ตั้งแต่ในปี 2557 รวมทั้งกลุ่มบริษัท ExxonMobil ได้ให้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจำนวน 5.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการสนับสนุนทางการเงินดังกล่าว ช่วยลดปริมาณหนี้สินจากบุคคลภายนอกและรักษาสภาพคล่องที่แข็งแกร่งให้แก่ Esso

กระบวนการผลิตของโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพดีและความเชื่อถือได้สูง: บริษัทฯ มีข้อได้เปรียบในการเข้าถึงวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ผ่านทางกลุ่มบริษัท ExxonMobil ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ตามสภาวะตลาด ฟิทช์เชื่อว่า บริษัทฯ จะมีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ที่ลดลงจากการหยุดสายการผลิตสารพาราไซลีน (PX) ตั้งแต่ในเดือนเมษายน 2564 เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบที่อยู่ในระดับต่ำจากอุปทานส่วนเกินในตลาดที่มาก แต่คาดว่าสามารถจะลดทอนจากสัดส่วนผลิตภัณฑ์น้ำมันเบนซินที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้มีอัตรากำไรที่ดีอยู่

ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันที่มั่นคง: Esso มีชื่อเสียงทางการค้าที่แข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักมายาวนานในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในประเทศไทย โดยมีสถานีบริการจำนวน 721 สถานี ณ สิ้น เดือนกันยายน 2564 Esso มีแผนที่จะขยายจำนวนสถานีบริการอย่างต่อเนื่อง และรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดให้อยู่ในอันดับที่สามหรือที่สี่ โดยบริษัทฯ ได้เพิ่มขยายสถานีบริการใหม่ จำนวน 69 สถานีในปี 2563 และอีก 25 สถานีในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564

ธุรกิจมีความผันผวนสูง: สถานะเครดิตของ Esso ยังพิจารณารวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของวัฏจักรของธุรกิจ ขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างเล็ก และความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว ความผันผวนของค่าการกลั่น ราคาน้ำมัน และความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียน อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไร และกระแสเงินสดของบริษัทฯ

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
สถานะทางธุรกิจของ Esso อยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ ฟิทช์จัดอันดับเครดิตอยู่ Esso มีขนาดธุรกิจโรงกลั่นและธุรกิจปิโตรเคมีที่เล็กกว่า บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตที่ A-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/F2(tha) ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ bbb(tha)) แต่ Esso มีธุรกิจจำหน่ายน้ำมันแก่ลูกค้ารายย่อยผ่านสถานีบริการน้ำมันของตัวเอง นอกจากนี้ Esso ยังมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า IRPC แต่ฟิทช์มองว่าความเชื่อมโยงกับบริษัทแม่ของ Esso อยู่ในระดับที่สูงกว่าของ IRPC ที่มีกับบริษัทแม่

Esso มีขนาดธุรกิจโรงกลั่นและธุรกิจปิโตรเคมีที่เล็กกว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตที่ AA+(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ/F1+(tha) ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ aa-(tha)) โรงกลั่นน้ำมันของ Esso มีความคอมเพล็กซ์ (ความสามารถในการผลิตที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่สูงของโรงกลั่น) ที่น้อยกว่าและมีขนาดเล็กกว่าของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ/F1(tha) ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) นอกจากนี้ Esso ยังมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่าทั้งสองบริษัทอีกด้วย

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:

  • ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564, 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565,
    60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2566 และ 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลหลังจากนั้น โดยมีการปรับด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ Esso
  • อัตราการผลิตที่ร้อยละ 70-75 ของกำลังการกลั่นในปี 2564-2566 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยของอุปสงค์ในตลาด
  • ค่าการกลั่น (ไม่รวมกำไรหรือการขาดทุนมูลค่าสต๊อกน้ำมัน) เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2564
  • ธุรกิจพาราไซลีนหยุดดำเนินการผลิต ตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2564
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 1.3 พันล้านบาท ต่อปี ในปี 2564-2566
  • จ่ายเงินปันผลร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ ตั้งแต่ปี 2566

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:

  • อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO net leverage) ลดลงต่ำกว่า 5.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • ความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัท ExxonMobil ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจัยลบ:

  • ความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัท ExxonMobil ที่ลดลง
  • ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคาร และตลาดตราสารหนี้ที่ลดลง
  • ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอ่ลง ทำให้ EBITDA เป็นลบอย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: Esso มีหนี้สินทั้งสิ้นจำนวน 2.87 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 โดยหนี้สินประมาณ 1.74 หมื่นล้านบาทจะครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้า สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนที่สามารถเบิกกู้ได้จำนวนประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท จากกลุ่ม ExxonMobil นอกจากนี้ Esso ยังมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารที่ดี โดยมีวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนที่สามารถเพิกถอนได้ และยังไม่ได้เบิกกู้จำนวนประมาณ 3.0 หมื่นล้านบาท

ข้อมูลของบริษัท
Esso เป็นผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจร รวมถึงธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ซึ่งได้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานมากกว่า 125 ปี โดย บริษัท Exxon Mobil Corporation ถือหุ้นบริษัทประมาณร้อยละ 66 ผ่านบริษัท ExxonMobil Asia Holdings Private Limited บริษัทฯ มีโรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน และมีสถานีบริการน้ำมันมากกว่า 700 แห่งในประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ