ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต เปิดตัว "เครื่องฉายดาวระบบดิจิทัล" ที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน เชื่อมต่อข้อมูลจากศูนย์วิทยาศาสตร์ระดับโลกได้แบบเรียลไทม์ด้วยระบบ Data2Dome จำลองอวกาศ ระบบสุริยะจักรวาล ไปจนถึงพื้นผิวของดาวเคราะห์ ด้วยความคมชัดสมจริง พร้อมชม "นิทรรศการดวงดาวและเทคโนโลยีอวกาศ : Space Exhibition" จัดแสดงเรื่องราวการสำรวจอวกาศและแนวคิดในการอพยพสู่ดาวดวงใหม่ พร้อมเปิดให้เข้าชมได้แล้ว!
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดตัวเครื่องฉายดาวระบบดิจิทัลที่มีความทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้ด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย และสามารถให้บริการทางการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจ โดยมี ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ รองเลขาธิการสำนักงาน กศน. และผู้บริหารกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และผู้บริหารจากภาคีเครือข่ายร่วมพิธี
ว่าที่ ร.อ.ดร.อาศิส เชยกลิ่น ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต หรือ ท้องฟ้าจำลองรังสิต ได้มีการติดตั้ง "เครื่องฉายดาวระบบดิจิทัล" ทดแทนเครื่องฉายดาวระบบเก่าที่มีอายุการใช้งานมานาน เพื่อให้ท้องฟ้าจำลองรังสิต เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย สามารถรักษามาตรฐานการให้บริการเยาวชนและประชาชน ได้อย่างมีคุณภาพทัดเทียมท้องฟ้าจำลองในต่างประเทศ
สำหรับจุดเด่นของ เครื่องฉายดาวระบบดิจิทัล คือ การใช้เทคโนโลยี Laser Projector ที่มีความละเอียดในการฉายภาพระดับ 4K คูณ 6 เพื่อให้การจำลองอวกาศ ระบบสุริยะจักรวาล ไปจนถึงพื้นผิวของดาวเคราะห์คมชัดและสมจริงเสมือนผู้ชมได้อยู่ท่ามกลางห้วงอวกาศ ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากศูนย์วิทยาศาสตร์ระดับโลกได้แบบเรียลไทม์ด้วยระบบ Data2Dome เต็มอิ่มไปกับภาพยนตร์กว่า 3,000 เรื่องเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย สามารถรองรับผู้ชมได้กว่า 160 ที่นั่ง
พร้อมรับชม "นิทรรศการดวงดาวและเทคโนโลยีอวกาศ : Space Exhibition" โฉมใหม่ ที่จัดแสดงเรื่องราวการสำรวจอวกาศและแนวคิดในการอพยพสู่ดาวดวงใหม่ พร้อมจัดแสดงเครื่องแต่งกายของนักบินอวกาศ การปลูกพืชเพื่อทำอาหาร ยาที่เหล่านักบินอวกาศใช้ รวมถึงการคมนาคมบนดาวอังคาร โดยแบ่งนิทรรศการออกเป็น 9 ส่วน ได้แก่
ส่วนจัดแสดงที่ 1 Orientation เตรียมความพร้อมสู่ดาวดวงใหม่ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ การสร้างและปรับสภาพดวงดาวให้มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ทั้งบรรยากาศ อุณหภูมิ สภาพพื้นดิน และระบบนิเวศ โดยนำเสนอผ่านการจำลองบรรยากาศเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศ หุ่นจำลองดวงดาว หุ่นจำลองโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และหุ่นยนต์จำลองที่ถูกส่งไปก่อสร้าง รวมทั้งฉายสารคดีการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร
ส่วนจัดแสดงที่ 2 ที่อยู่อาศัย นำเสนอเรื่องราวสิ่งจำเป็นอันดับแรกของการขึ้นไปดาวอังคาร คือ การสร้างที่อยู่อาศัยที่ทนต่อสภาวะต่าง ๆ ของดาวอังคาร เช่น รังสี อุณหภูมิ และพายุ เป็นต้น โดยนำเสนอผ่านหุ่นจำลองบ้าน MARSHA แบบ CROSS SECTION และหุ่นจำลองวัสดุหินบะซอลต์ พร้อมทั้งกราฟิกวิธีการสร้างที่อยู่อาศัยและระบบการป้องกันสภาวะต่าง ๆ บนดาวอังคาร
ส่วนจัดแสดงที่ 3 อาหาร นำเสนอเรื่องราวการสร้างอาหารบนดาวอังคารที่มีความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งการคิดค้นวิธีการผลิตอาหารภายใต้ข้อจำกัดและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยนำเสนอผ่านวัตถุจัดแสดงสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในอวกาศในหลอดทดลอง (ไนโตรเจน โปรแตสเซียม ฟอสฟอรัส) และยังมีหุ่นจำลองฟาร์มและการควบคุมองค์ประกอบในการเติบโตของพืช
ส่วนจัดแสดงที่ 4 ยา การย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ เชื้อจุลชีวะขนาดเล็กจะติดตามมาด้วย แนวทางการรักษาบนสภาวะของดาวอังคารนับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการย้ายถิ่นฐานไปยังดาวอังคารของมนุษย์ โดยจะนำเสนอผ่านวิดีโอสารคดีทางการแพทย์บนอวกาศ หุ่นจำลองทางการแพทย์ และกราฟิก Lightbox แสดงตัวอย่างจุลชีวะบนสถานีอวกาศ
ส่วนจัดแสดงที่ 5 การคมนาคม นำเสนอเรื่องราวแนวทางการพัฒนายานพาหนะที่สามารถใช้ได้ในอวกาศ โดยนำเสนอผ่านหุ่นจำลองยานอวกาศแบบต่าง ๆ และสารคดีหลักการเคลื่อนที่ในสภาวะไร้น้ำหนัก
ส่วนจัดแสดงที่ 6 เครื่องนุ่งห่ม นำเสนอเรื่องราวการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจภายนอกที่อยู่อาศัยได้เหมือนกับอยู่บนโลก โดยนำเสนอผ่านการจำลองชุดนักบินอวกาศขนาดเท่าจริงและวัตถุจัดแสดงตัวอย่างผ้าที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตชุดนักบินอวกาศได้
ส่วนจัดแสดงที่ 7 พลังงาน นำเสนอเรื่องราวแนวทางในการพัฒนาพลังงานเพื่อใช้ในอวกาศ ผ่านหุ่นจำลองการควบคุมและการจ่ายพลังงาน และภาพยนตร์สารคดี แหล่งพลังงานรูปแบบต่าง ๆ ภายในโลก
ส่วนจัดแสดงที่ 8 อากาศ นำเสนอเรื่องราวแนวทางในการพัฒนาอากาศทดแทนเพื่อใช้ในการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอวกาศ ผ่านหุ่นจำลองโรงงานผลิตอากาศและกราฟิกการสร้างและการหมุนเวียนอากาศ
ส่วนจัดแสดงที่ 9 ก้าวแรกสู่ดาวอังคาร เมื่อเตรียมความพร้อมแล้ว ต่อจากนี้จะเป็นการพาผู้ชมเข้าไปสัมผัสประสบการณ์การอพยพมนุษย์เพื่อมาอาศัยบนดาวอังคาร ผ่านเทคนิค VR (Virtual-Reality Room) ห้องจัดแสดงเสมือนจริงที่จะทำให้ผู้ชมเสมือนอยู่บนดาวอังคาร
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชม ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต (ท้องฟ้าจำลองรังสิต) โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ เวลา 8.30-16.30 น. ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 0 25775456-9 และ Facebook : ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต