วันที่ 15 มกราคม 2565 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นางสาววิจิตร หลงชิน รักษาการแทนพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี และหัวหน้าส่วนราชการภายในจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตรวจติดตามเยี่ยมชมบรรยากาศการจำหน่ายสินค้าราคาอุปโภค บริโภคราคาประหยัด และได้ให้กำลังใจแก่ผู้ประกอบการและบริษัทห้างสรรพสินค้า ที่นำสินค้ามาจำหน่ายภายในตลาดนัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคราคาประหยัดและบรรเทาปัญหาค่าครองชีพของประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ณ บริเวณลานขวัญเมือง (ศาลากลางหลังเก่า) ตำบลในเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ด้วยสถานการณ์ปัญหาค่าครองชีพครัวเรือนในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากการปรับราคาสินค้าบริโภค อุปโภค โดยรัฐบาลมีความห่วงใยผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จึงได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การจัดตลาดนัด ตลาดชุมชน จำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคราคาประหยัด และการออกตรวจการจำหน่ายสินค้า ไม่ให้มีการจำหน่ายเกินราคาหรือกักตุนสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ
จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้จัดตั้งโครงการตลาดนัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคราคาประหยัดและบรรเทาปัญหาค่าครองชีพของประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี และได้มอบหมายให้ส่วนราชการในจังหวัดอุบลราชธานี อาทิ สำนักงานจังหวัดฯ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฯ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดฯ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ รวมถึงร้านค้าภาคเอกชน อาทิ CP Freshmart และ Big C Super Center ร่วมนำสินค้ามาจำหน่ายในราคาต่ำกว่าตลาดทั่วไป เช่น เนื้อหมู กิโลกรัมละ 185 บาท ไข่ไก่ ถาดละ 99 บาท ณ ตลาดนัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคราคาประหยัดและบรรเทาปัญหาค่าครองชีพของประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ทุกวันเสาร์ บริเวณลานขวัญเมือง ศาลากลางหวัดอุบลราชธานีหลังเก่า
สำหรับ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นางกนกอร โพธิ์สิงห์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นางวริชา เสาทอง พัฒนาการอำเภอเขื่องใน นางรัชดาวรรณ คำเอี่ยม พัฒนาการอำเภอสว่างวีระวงศ์ นางจริญญา บุญธรรม พัฒนาการอำเภอกุดข้าวปุ้น รวมถึงเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ ได้มีการประสานให้ผู้ประกอบการสินค้า OTOP ภายในจังหวัดอุบลราชธานี นำสินค้า OTOP มาจำหน่ายภายในตลาดฯ รวมถึงมีการนำผลผลิตจากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) ผลผลิตผักและอาหารปลอดภัย แบรนด์ "บวร" จากศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ และภาคีเครือข่าย ที่ได้รับความเมตตาและสนับสนุนจากพระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผลผลิตจากโครงการปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร อาทิ ผลไม้ ผักสวนครัวปลอดสารพิษ และสินค้าแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร มาร่วมจำหน่ายในครั้งนี้ ซึ่งมียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 68,720.50 บาท