นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ประเมินว่า จากการที่ Fed ส่งสัญญาณการปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นแบบเข้มงวด (Tightening) เร็วขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ทั้งการเร่งลดขนาดการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เร่ง QE Tapering) ในการประชุมเดือน ธ.ค. ต่อเนื่องด้วยการส่งสัญญาณเริ่มลดขนาดงบดุล ในรายงานการประชุม Fed สัปดาห์ที่ผ่านมา และน่าจะตามมาด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นเป็นเดือน มี.ค. (สะท้อนจาก Fed Watch Tool ที่ล่าสุดให้น้ำหนักสูงขึ้นเป็น 70% เทียบกับช่วงเดือน ธ.ค. ที่อยู่ต่ำเพียง 30-35%) เพื่อเร่งแก้ปัญหาเงินเฟ้อซึ่งยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี สหรัฐฯ เร่งตัวรอบใหม่ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก
โดยหุ้นมูลค่า (Value Stock) โดนผลกระทบเชิงลบน้อยกว่า หากประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเร่งตัวขึ้น อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นลดลง แต่อย่างไรก็ตามในเชิงเปรียบเทียบ หุ้นมูลค่า (Value Stock) โดนผลกระทบเชิงลบน้อยกว่า หุ้นเติบโต (Growth Stock) และจากค่าสถิติ Correlation ระหว่าง MSCI World Value Index ตัวแทนของหุ้นมูลค่า และMSCI World Growth Index ตัวแทนของหุ้นเติบโต เทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ของสหรัฐฯในอดีตที่ผ่านมา พบว่าในปีที่ผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น ผลตอบแทนจากหุ้นมูลค่าจะสูงขึ้นตาม สวนทางกับผลตอบแทนหุ้นเติบโตที่ปรับตัวลง มีเพียงในปี 2013 ที่อัตราพันธบัตรรัฐบาลเร่งตัวมากผิดปกติ +1.271% YoY ส่งผลให้ทั้งหุ้นมูลค่า และหุ้นเติบโตปรับตัวลงทั้งคู่
สำหรับหุ้นไทยยังน่าจะไปต่อ บทเรียนจากอดีตสะท้อนโอกาสสำหรับตลาดหุ้นไทยที่ส่วนใหญ่เป็นหุ้นมูลค่า และเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม (Old Economy) ซึ่งถือว่าแทบไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการอัดฉีดสภาพคล่องของ Fed ในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น MST ยังคงมุมมองของ SET Index ที่ระดับ 1750 จุด บนสมมติฐาน EPS 94.2 บาทต่อหุ้น (+13%YoY) อิง PE Ratio ที่ 18.6 เท่า เทียบเคียงกับระดับค่าเฉลี่ย PE ย้อนหลัง 5 ปีของ SET + 0.5 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ดังนั้นแนวโน้มการ Tightening ที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2565 นำมาสู่มุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจ 1.แนวโน้มกำไรเติบโต / ฟื้นตัว และอัตรากำไรสูงขึ้น หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มการขยายตัวของอัตรากำไร เด่นสุด นำโดย กลุ่มโรงกลั่น SPRC (ราคาเป้าหมาย 11.20 บาท) และหุ้นแนวโน้มกำไรน่าจะออกมาดีกว่าคาด ไม่โดนผลเชิงลบจากเงินเฟ้อ GLOBAL (ราคาเป้าหมาย 27.5 บาท) 2.หุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ KBANK (ราคาเป้าหมาย 180 บาท) 3.หุ้นที่แนวโน้มกำไรถึงจุดเร่งตัว PLANB (ราคาเป้าหมาย 9.45 บาท) / OCEAN (ราคาเป้าหมาย 2.89 บาท) และกลุ่มหุ้นที่มีความเสี่ยง ต้องระมัดระวังในการลงทุน 1.หุ้นเติบโต (Growth Stock) ที่ราคาปรับตัวขึ้นจากอานิสงค์การกระตุ้นเศรษฐกิจของ Fed คือกลุ่มอิเล็คโทรนิกส์ (ETRON) กลุ่มที่ประโยชน์มากที่สุดจากการอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบของ Fed ผลตอบแทน SETETRON ปรับตัวขึ้น 379.11 % ในปี 2563 และเป็นกลุ่มที่โดนผลกระทบเชิงลบมากเช่นกันจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ 2.หุ้นที่แนวโน้มกำไรฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาดมีความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) คือกลุ่มโรงแรม (HOTEL) กลุ่มที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งแนวโน้มกำไรอาจมี Downside จากสถานการณ์ COVID-19 ที่กลับมายืดยืดเยื้อใน 1Q65