กลุ่มทิสโก้ เปิดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ปี 2565 เน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ และมีความเปราะบาง ชูธีมบริการแบบ "Hybrid Advisory" ตอบโจทย์ลูกค้ายุค COVID Disruption มุ่งเป็นที่ปรึกษาที่ดี ควบคู่กับผลิตภัณฑ์ที่สร้างคุณค่า พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับบริการให้ลูกค้า ขณะที่ผลประกอบการในปี 2564 มีกำไรสุทธิ 6,781 ล้านบาท เติบโต 11.8% และยังคงความระมัดระวังด้วยระดับเงินสำรอง Coverage ratio สูงถึง 236.7% พร้อมเงินกองทุนที่แข็งแกร่งที่ BIS ratio 25.2%
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr. Sakchai Peechapat, Group Chief Executive, TISCO Financial Group Public Company Limited) เปิดเผยว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าการขยายตัวจะอยู่ที่ระดับ 3.3% ซึ่งมีแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของ COVID - 19 ดังนั้น กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ในปีนี้ จึงให้ความสำคัญกับ "การเติบโตอย่างมีคุณภาพ" ภายใต้รูปแบบการให้บริการที่เน้นตอบโจทย์ลูกค้าในธีม "Hybrid Advisory" ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการให้ "คำแนะนำที่ดี" ควบคู่กับการมี "ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม" ให้แก่ลูกค้า รวมถึงการนำ "เทคโนโลยี" เข้ามาช่วยยกระดับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"เศรษฐกิจไทยเข้าสู่โหมดของการทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของ COVID - 19 สายพันธุ์ Omicron และโอกาสการกลายพันธุ์ที่ยังไม่จบ ซึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก จึงเน้นการเติบโตอย่างระมัดระวัง จากนั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จะเร่งระดับของการเติบโตขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่การให้บริการจะเห็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน กับจุดแข็งของความเชี่ยวชาญในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ดี (Top Advisory) ที่กลุ่มทิสโก้มุ่งเน้นมาโดยตลอดมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า พร้อมแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ" นายศักดิ์ชัยกล่าว
สำหรับยุทธศาสร์การเติบโตในแต่ละกลุ่มธุรกิจของทิสโก้กำหนดเป้าหมายไว้ ดังนี้
กลุ่มธุรกิจรายย่อย จะมุ่งสนับสนุนเงินให้สินเชื่อแก่ลูกค้าเช่าซื้อ จำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อเพื่อการบริโภค ผ่านช่องทางสาขาธนาคารทิสโก้ การขยายสาขา "สมหวัง เงินสั่งได้" เพิ่มเป็น 400 แห่ง โดยกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินและความรู้ทางการเงินได้มากขึ้น พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ และแสวงหาโอกาสการเติบโตในกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เช่น กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) กลุ่มรถบรรทุก เป็นต้น รวมถึงเพิ่มช่องทางบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น
ธุรกิจนายหน้าประกันภัย จะให้ความสำคัญกับการทำการตลาดแบบคู่ขนานทั้งการสานต่อและขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ รวมทั้งพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจอื่น เพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการเข้าถึงลูกค้าแบบ Customer Touchpoint และเพื่อส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า
กลุ่มธุรกิจบรรษัท จะยังคงใช้จุดแข็งในการบริหารงานแบบรวมศูนย์ (Centralized) ที่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินเชื่อและบริการวาณิชธนกิจ เพื่อสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างครบวงจรในลักษณะ Total Solution ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างรอบด้านและดีที่สุด (Best Solution)
กลุ่มธุรกิจธนบดีและจัดการกองทุน จะเดินหน้าบริการออกแบบแผนการเงินเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นการวางแผนการเงินในเชิงลึกตามแนวทางการบริหารความมั่งคั่งแบบองค์รวม (Holistic Financial Advisory) ของทิสโก้ และรองรับเทรนด์สังคมอายุยืน (Aging Society) ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย โดยครอบคลุมทั้งการวางแผนการลงทุน การคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ และการวางแผนเกษียณ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละรายได้อย่างคุ้มค่า นอกจากนี้จะมุ่งขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม Mass-affluent มากขึ้น ผ่านบริการลงทุน นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และที่ปรึกษาการลงทุน
"ผลการดำเนินงานในปี 2564 ขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ โดยมีกำไรสุทธิ 6,781 ล้านบาท เติบโต 11.8 % จากปี 2563 ขณะเดียวกันทิสโก้ยังสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID - 19 ได้อย่างทันท่วงที ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น คืนรถจบหนี้ ขายรถปิดหนี้ มาตรการช่วยเหลือระยะที่ 3 เป็นต้น โดยโครงการคืนรถจบหนี้ที่สิ้นสุดโครงการลงทั้ง 2 เฟสเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ทิสโก้สามารถให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปแล้วกว่า 3,800 ราย ทั้งนี้ แม้จะสิ้นสุดโครงการไปแล้ว แต่หากลูกค้าเช่าซื้อและจำนำทะเบียนรถยนต์ของทิสโก้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID -19 ระลอกใหม่ ก็สามารถเข้ามาขอความช่วยเหลือจากทิสโก้ได้ โดยที่บริษัทจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม เพื่อให้ลูกค้าผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้" นายศักดิ์ชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มทิสโก้ยังคงยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมปรับตัวและพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเดินหน้าปลูกฝังวัฒนธรรมดิจิทัลและการใช้ Big Data ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพของบุคคลากรให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
สรุปผลประกอบการในปี 2564
ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 6,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% จากปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุน กำไรจากเงินลงทุน และค่าใช้จ่ายสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่ลดลง โดยในรายละเอียด รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัว 9.7% จากปีก่อน สาเหตุมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุนที่เติบโต 46.2% จากการออกกองทุนใหม่ที่ได้รับการตอบรับที่ดี และการรับรู้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการของกองทุน รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.1% จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ชะลอตัว 7.8% จากธุรกิจนายหน้าประกันภัย ที่ได้รับผลกระทบในช่วงเศรษฐกิจซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่ออ่อนตัวลง ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 4.9% ตามทิศทางการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัว
นอกจากนี้ บริษัทมีผลกำไรจากมูลค่าเงินลงทุนที่ตีมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss - ECL) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.0% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย จากการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดที่เริ่มคลี่คลาย แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในช่วงสิ้นปี ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ 16.8%
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีจำนวน 202,950 ล้านบาท ลดลง 9.7% จากสิ้นปีก่อนหน้า เนื่องมาจากบริษัทดำเนินนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังในภาวะที่เศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนสูงจากการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงบริหารจัดการสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) ลดลงจากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2.4% ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีกว่าความคาดหมาย ทั้งนี้ บริษัทยังคงมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 236.7%
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 25.2% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 20.2% และ 5.0% ตามลำดับ