กรมวิชาการเกษตร ร่วมหารือผู้ประกอบการ เตรียมมาตรการรองรับส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกไปจีน คุมเข้มยันสวนต้นทางจนถึงล้ง คาดผลผลิตทุเรียนและมังคุดปีนี้ทะลักไม่น้อยกว่า 9 แสนตัน เน้นย้ำมาตรการตรวจศัตรูพืชและโควิดเข้มข้น พร้อมวางแผนชงเพิ่มเส้นทางส่งออกนอกพิธีสารใช้เส้นทางบกส่งต่อทางเรือผ่านเวียดนามเข้าจีน
นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้เตรียมการเพื่อรองรับการส่งออกผลไม้สำหรับฤดูกาลภาคตะวันออกไปจีน ตามข้อสั่งการของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้กรมวิชาการเกษตรร่วมหารือกับ ผู้ประกอบการเพื่อผลักดันให้การส่งออกผลไม้ไปจีนผ่านประเทศที่สามได้สะดวก ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมเชื้อไวรัสโควิด-19 ของจีนที่เข้มงวด ZERO COVID 100 % ทั้งคน สินค้า (รวมผลไม้สด) บรรจุภัณฑ์ และตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งหากจีนตรวจพบเชื้อโควิด-19 จะต้องปิดด่านและระงับการนำเข้าสินค้า ตามมาตรการของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นที่กำหนด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ไทยอาจติดอยู่ที่หน้าด่านได้
ในปี 2565 นี้คาดการณ์ผลผลิตทุเรียนจะมีไม่น้อยกว่า 700,000 ตัน และมังคุดไม่น้อยกว่า 200,000 ตัน ซึ่งมาตรการที่กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมการไว้ ได้แก่ มาตรการควบคุมและป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในผลไม้ส่งออกตั้งแต่สวนต้นทางจนถึงปลายทางคือผู้ปฏิบัติงานในโรงคัดบรรจุ เพื่อควบคุม และป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 บนผิวผลไม้ที่ส่งออก บรรจุภัณฑ์ และในตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งผลไม้ พร้อมกับเร่งการตรวจประเมินสวนผลไม้รายใหม่เพื่อรองรับมาตรฐาน GAP และจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนให้กับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) เป็นรายไตรมาส เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการเพิ่มจำนวนแปลง GAP ในระบบฐานข้อมูลของจีน
"นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้วกรมวิชาการเกษตร ได้หารือร่วมกับ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง (สปษ.ปักกิ่ง) และผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนเพื่อหาแนวทางลดปัญหาการแออัดการส่งออกสินค้าเกษตร ณ ด่าน โหย่วอี้กวน โดยขอเพิ่มช่องทางส่งออกจากทางบกต่อทางเรือผ่านด่านไฮฟอง (เวียดนาม) เพื่อนำสินค้าเข้าที่ท่าเรือชินโจว (จีน) ซึ่งกรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเสนอให้จีนพิจารณาเนื่องจากเส้นทางดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามพิธีสารระหว่างไทยกับจีน จึงได้เสนอให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง (สปษ. ปักกิ่ง) ประสานกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้จีนมีความมั่นใจว่าฝ่ายไทยได้เข้มงวดตรวจสอบทั้งศัตรูพืชและเชื้อโควิด-19 ในผลไม้ไทยที่ส่งออกไปจีนอย่างเคร่งครัด" นายภัสชญภณ กล่าว