ธนาคารกรุงเทพมุ่งส่งเสริมความรู้เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต่อยอดองค์ความรู้ชุมชน จากรายการ "คาราวานสำราญใจ เที่ยวไปในชุมชน" สู่หนังสือ "ท้องถิ่น อินเตอร์" ถอดประสบการณ์-ชูเสน่ห์อัตลักษณ์-เคล็ดลับเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้วิสาหกิจชุมชน พร้อมไอเดียดี สินค้าเด็ด ตัวอย่างความสำเร็จ "แบรนด์ชุมชน" เติบโตอย่างยั่งยืน เปิดโอกาสผู้สนใจดาวน์โหลด eBook ได้ฟรี ตอกย้ำแนวคิด "เพื่อนคู่คิด" ให้คำแนะนำ บริการทางการเงิน ขยายศักยภาพธุรกิจ
นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารให้ความสำคัญส่งเสริมความรู้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีพื้นฐานทางธุรกิจที่เข้มแข็ง สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับไปสู่การทำตลาดระดับประเทศและภูมิภาคต่อไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ตลอดจนมีความสามารถปรับตัวพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารพร้อมให้การสนับสนุนครอบคลุมทุกกลุ่มทุกมิติอย่างรอบด้าน ตั้งแต่การส่งเสริมความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บ และติดอาวุธไอเดียที่เป็นประโยชน์ในการนำไปต่อยอดธุรกิจ การสนับสนุนด้านเงินทุนสินเชื่อ การจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน ตลอดจนแนะนำสู่ตลาดใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น พร้อมทำหน้าที่ผู้ช่วยจัดการธุรกิจต่างๆ ด้วยบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ได้ตรงความต้องการของธุรกิจ
ล่าสุด ธนาคารได้จัดทำหนังสือ "ท้องถิ่น อินเตอร์" โดยรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ จากเนื้อหาในรายการ "คาราวานสำราญใจ เที่ยวไปในชุมชน" ซึ่งเป็นรายการที่ธนาคารกรุงเทพให้การสนับสนุน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ในชุมชนกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ผ่านหลากหลายมิติ ทั้งการท่องเที่ยว วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ทักษะและภูมิปัญญาที่สะท้อนผ่านผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน โดยมีผู้ทำหน้าที่ถอดบทเรียนจากภูมิปัญญา และถ่ายทอดเรื่องราวให้เข้าใจได้ง่ายๆ ได้แก่ "คุณสุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์" นักเขียนและนักออกแบบผลิตภัณฑ์จากอัตลักษณ์ชุมชน ผู้หลงใหลการสร้างแบรนด์และออกแบบการสื่อสาร
คุณสุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์ กล่าวถึงความรู้สึกส่วนหนึ่งไว้ในหนังสือว่า "การได้เป็นเพื่อนร่วมเดินทางของรายการคาราวานสำราญใจ เที่ยวไปในชุมชน โดยธนาคารกรุงเทพ ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสว่าชุมชนเล็กๆ ทั่วประเทศมีภูมิปัญญาท้องถิ่นและทักษะงานช่างฝีมือมากมายที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งความแตกต่างของภูมิปัญญาท้องถิ่นคือเสน่ห์ที่แต่ละพื้นที่สามารถนำมาสร้างเป็นอัตลักษณ์ ช่วยต่อยอดคุณค่าให้ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อย่างสอดรับกับวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน รวมทั้งการนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาใช้ในการพัฒนาให้ตอบโจทย์ตลาดเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความร่วมสมัยให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการช่วยสืบสานมรดกด้านช่างฝีมือให้คงอยู่ต่อไปแบบรุ่นสู่รุ่นได้อีกทางหนึ่ง"
"ทุกครั้งในการลงพื้นที่แต่ละชุมชนที่รายการเข้าไปถ่ายทำ ธนาคารฯ โดยทีมผู้ผลิตรายการจะเชิญเพื่อนร่วมเดินทางซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญงานสร้างสรรค์ในหลายสาขา ทั้งนักออกแบบกราฟิกและบรรจุภัณฑ์ นักพัฒนาสินค้าชุมชน เชฟชื่อดังระดับประเทศ รวมทั้งนักออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ มาร่วมทำงานกับชุมชนเพื่อนำองค์ความรู้มาช่วยแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาให้สินค้าหรือบริการของชุมชน และเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องของการท่องเที่ยว ให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคและการทำตลาดยุคใหม่ ภายใต้หลักการคือ ต้องเป็นองค์ความรู้ที่เข้าใจได้ง่าย ต่อยอดจากพื้นฐานที่ชุมชนมีอยู่แล้ว ทั้งทรัพยากร วัตถุดิบ ทักษะทางภูมิปัญญา รวมทั้งต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ไม่สูง เพื่อให้แต่ละชุมชนสามารถนำไปปฏิบัติและสร้าง "แบรนด์ชุมชน" ได้จริง ช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังกลุ่มเศรษฐกิจระดับฐานราก ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความแข็งแกร่งไปสู่ผู้คนวงกว้างได้อย่างทั่วถึง" นายทวีลาภ กล่าวและว่า
เนื้อหาในหนังสือ "ท้องถิ่น อินเตอร์" จะเน้นการถ่ายทอดความรู้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย และนำไปใช้ได้จริง ตั้งแต่เรื่องการสร้างแบรนด์ชุมชน กระบวนการคิดเชิงออกแบบอย่างเป็นขั้นตอน การคัดสรรไอเดียดี สินค้าเด็ดจากชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนผลสำเร็จของชุมชนที่ได้นำแนวคิดและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญไปต่อยอดและพัฒนา จนประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และความยั่งยืน เช่น ชุมชนบ้านหนองหล่ม จ.พะเยา ที่นำไอเดียมาปรับกิจกรรมการท่องเที่ยวให้สอดรับความต้องการของนักท่องเที่ยวหลากหลายกลุ่ม จนได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 แชมป์เปี้ยนชุมชนระดับประเทศจาก 462 ชุมชน และสามารถจับคู่ธุรกิจกับบริษัทนำเที่ยวจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ช่วยขยายตลาดไปสู่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้สำเร็จ
รวมทั้งชุมชนบ้าน กม.32 อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวไฮไลท์ในพื้นที่คือ ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง และ Darina Pizza หรือพิซซ่าอัยเยอร์เวง สูตรพิซซ่าหน้าปลานิลสายน้ำไหล เทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นซิกเนเจอร์เมนูในพื้นที่ ซึ่งเจ้าของร้านได้นำแนวคิดการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากทางรายการไปทดแทนบรรจุภัณฑ์แบบเดิม โดยเปลี่ยนมาใช้กระดาษลูกฟูกสำเร็จรูปที่มีความแข็งแรงแต่ราคาประหยัด วางซ้อนกันได้ ไม่เสียรูปทรง และรักษาอุณหภูมิพิซซ่าให้คงความอร่อยเสมือนนั่งทานในร้าน ตอบโจทย์การขนส่งและเทรนด์การสั่งอาหารออนไลน์ (Food Delivery) รวมทั้งออกแบบตราสัญลักษณ์และลวดลายกราฟิกบนกล่องใหม่ ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น มีลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 30% ในเวลาอันรวดเร็ว เช่นเดียวกับกาแฟอัยเยอร์เวง อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน ภายหลังจากออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจในการซื้อ และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ สามารถขยายฐานสร้างลูกค้าใหม่ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 20% รวมทั้งสามารถขยายตลาดได้สำเร็จ จากการถูกบรรจุไว้ในเมนูของร้านกาแฟมวลชนทั่วประเทศอีกด้วย
นายทวีลาภ กล่าวอีกว่า หนังสือ "ท้องถิ่น อินเตอร์" จึงเป็นเสมือนการรวบรวมประสบการณ์ และหนึ่งในเครื่องมือช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ไปสู่สาธารณชน ทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ หรือผู้สนใจต้องการประกอบธุรกิจ เพื่อนำความรู้และแนวคิดจากกรณีศึกษาและผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องและตอบโจทย์แต่ละท้องถิ่น หรือกลุ่มเป้าหมายของแต่ละธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยธนาคารกรุงเทพดำเนินการจัดพิมพ์ครั้งแรก จำนวน 3,000 เล่ม สำหรับนำไปส่งมอบให้แก่ห้องสมุด สถาบันการศึกษา และแหล่งท่องเที่ยวชุมชนทั่วประเทศ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดในรูปแบบ eBook ได้ฟรี ที่เว็บไซต์ www.bangkokbank.com/LocaltoGlobalBook/index.html หรือ QR Code ตามแนบ
"นอกจากการส่งเสริมด้านความรู้แล้ว ธนาคารกรุงเทพยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถต่อยอดศักยภาพของธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น เช่น การให้คำแนะนำ คำปรึกษา เพื่อสร้างเครดิตสำหรับธุรกิจ การสนับสนุนด้านการเงินผ่านบริการสินเชื่อและเครื่องมือทางการเงินหลากหลายรูปแบบที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านการเงิน การจับคู่ธุรกิจเพื่อช่วยให้เข้าถึงผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เดียวกัน ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงตลาดในวงกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของธนาคารในฐานะ "เพื่อนคู่คิด" ที่พร้อมเดินเคียงข้างและเติบโตไปด้วยกันตลอดเส้นทาง"