สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) ร่วมรณรงค์สัปดาห์ราชประชาสมาสัย ระหว่างวันที่ 10 -16 มกราคม 2565 ภายใต้แนวคิด "โรคเรื้อนรักษาหาย รู้เร็วรักษาทัน ป้องกันความพิการได้"
สถานการณ์โรคเรื้อนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ที่ขึ้นทะเบียนรักษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2564 (ณ 31 ธันวาคม 2564) จำนวนทั้งหมด 36 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยเชื้อมาก (Multibacillary: MB ) จำนวน 35 ราย และผู้ป่วยเชื้อน้อย (Paucibacillary: PB) จำนวน 1 ราย โดยจำแนกตามรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดนราธิวาส 15 ราย, ปัตตานี 7 ราย, ยะลา 7 ราย, สงขลา 3 ราย, พัทลุง 2 ราย, ตรัง 1 ราย และสตูล 1 ราย
สำหรับในปี พ.ศ. 2564 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2564) พบว่ามีผู้ป่วยเด็ก จำนวน 2 ราย ในพื้นที่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงการแพร่เชื้อในชุมชน และผู้ป่วยพิการระดับ 2 (ที่มองเห็นด้วยตาเปล่า) จำนวน 1 ราย ในพื้นที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงการเข้ารับบริการการรักษาที่ล่าช้า
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี ถือเป็น"วันราชประชาสมาสัย" สคร.12 สงขลา ร่วมรณรงค์สัปดาห์ราชประชาสมาสัย 2565 ภายใต้แนวคิด "โรคเรื้อนรักษาหาย รู้เร็วรักษาทัน ป้องกันความพิการได้" เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชน มีความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเรื้อน และร่วมกันค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ พร้อมทั้งแนะนำให้รีบรับการรักษาโดยเร็ว เพื่อลดการเกิดความพิการในผู้ป่วยรายใหม่ และเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องครบถ้วนตามกำหนด และส่งเสริมให้ผู้ป่วยโรคเรื้อนดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนได้ตามปกติ
โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Mycobacterium leprae โรคเรื้อนสามารถติดต่อได้โดยทางเดินหายใจ แต่ติดต่อได้ยาก ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโรคเรื้อน คือผู้ที่สัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเชื้อมาก (Multibacillary: MB) ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อและเกิดโรคเรื้อนจะเป็นคนที่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคเรื้อนผิดปกติเท่านั้น ข้อมูลทางสถิติพบว่าผู้รับเชื้อโรคเรื้อน 100 คน จะมีโอกาสเป็นโรคเรื้อนได้เพียง 3 คน
สำหรับอาการของโรคเรื้อน ได้แก่ ผื่นผิวหนัง เป็นวงด่างสีจางหรือแดงกว่าผิวหนังปกติ บริเวณรอยโรคแห้ง เหงื่อไม่ออก อาจพบขนร่วง ที่สำคัญคือรอยโรคมีอาการชา ไม่คัน หรือเป็นผื่นนูนแดง ตุ่มแดง ไม่คัน อาการที่พบจะเป็นเรื้อรังนานมากกว่า 3 เดือน ใช้ยากินยาทาทั่วไป (ที่ไม่ใช่ยารักษาโรค) แล้วไม่ทุเลาเนื่องจากอาการเริ่มแรกของโรคนั้นไม่มีอาการคัน หรือเจ็บปวดทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจ คิดว่าไม่ใช่โรคร้ายแรง จึงไม่รีบเข้ารับการรักษา ทำให้โรคลุกลามเป็นมากขึ้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนส่งผลให้เกิดความพิการได้ในที่สุด ทั้งนี้ หากมีอาการเหล่านี้ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว
นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์สัปดาห์ราชประชาสมาสัย 2565 ว่า สคร.12 สงขลา โดยงานควบคุมโรคติดต่อ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส จัดกิจกรรมรณรงค์สัปดาห์ราชประชาสมาสัย ระหว่างวันที่ 18 - 20 มกราคม 2565 ในพื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี, อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยมีกิจกรรม ให้ความรู้เรื่องโรคเรื้อน และสนับสนุนสื่อรณรงค์ ได้แก่ ไวนิล แผ่นพับ แก่ อสม. ประชาชน พร้อมบริการตรวจคัดกรองโรคผิวหนังแก่ประชาชนที่มารับบริการ และ สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถรับบริการตรวจรักษาได้ฟรี ณ สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคเรื้อนสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422