รพ.จุฬารัตน์ เดินหน้าเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่ม CLMV ชูจุดขายการบริการรักษารวดเร็ว-ได้มาตรฐานสากล โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รับดีมานด์ลูกค้าหลังเปิดประเทศ พร้อมหนุนนโยบาย Medical Hub ของรัฐบาล
นายสิริ ยุทกาศ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์นานาชาติ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ เปิดเผยถึงแผนดำเนินงานในส่วนลูกค้าต่างชาติ นับตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ว่า กลุ่มลูกค้าต่างประเทศทั้งคนไข้เก่าและคนไข้ใหม่ เริ่มติดต่อเข้ามาอีกครั้งอย่างต่อเนื่อง หลังจำนวนผู้ใช้บริการต่างชาติลดลงนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 โดยโรงพยาบาลยังคงให้บริการคำปรึกษาทางการแพทย์กับกลุ่มคนไข้เก่าผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นลูกค้าหลักที่สำคัญ อย่างเช่น ประเทศคูเวต กาต้าร์ โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซาอุดิอาระเบีย และกลุ่ม CLMV รวมถึงการเข้าร่วมเป็น Hospital Quarantine ให้กับคนต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามารักษาตัวในไทย หรือกลุ่ม Medical and Wellness Program ในการรักษาและพักฟื้น โดยต้องอยู่กักตัวในโรงพยาบาลจนครบ 14 วัน และเข้าร่วมเป็นโรงพยาบาลกักตัวทางเลือก Alternative Hospital Quarantineเพียง 1 เดือนแรกหลังการเปิดประเทศ โรงพยาบาลมีรายได้การให้บริการทางการแพทย์จากกลุ่มลูกค้าชาวตะวันออกกลาง และกลุ่ม CLMV ในสัดส่วนที่เพิ่มขี้น เป็นรายได้ที่กลับมาเกือบ 100% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดภาวะวิกฤติโควิด-19 นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี โดยในไตรมาส 4/2564 จำนวนลูกค้ามีเพิ่มมากขึ้นและช่วยรักษาการขยายตัวของรายได้ที่มาจากคนไข้ชาวต่างชาติในภาพรวมไว้ได้
พร้อมกันนี้ ศูนย์การแพทย์นานาชาติ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ ได้จัดแคมเปญและโปรโมชั่นพิเศษราคามิตรภาพในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา และในต้นปี 2565 สำหรับลูกค้าชาวต่างชาติรวมหลายแพคเกจ เช่น แพคเกจตรวจสุขภาพ Comprehensive Program ในราคา 9,000บาท แพคเกจตรวจกระดูกและข้อ รวมทั้งระบบประสาทและสมองด้วย MRI ราคา 7,900 บาท และแพคเกจตรวจระบบทางเดินอาหาร พร้อมส่องกล้องกระเพาะอาหาร ราคา 12,000 บาท เพื่อหวังสร้างรายได้และดึงคนไข้เป้าหมายให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นสำหรับปี 2565 ศูนย์การแพทย์นานาชาติ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ มีเป้าหมายขยายฐานลูกค้ากลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่ม CLMV ลูกค้าหลักเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นให้คำปรึกษาและรักษาโรคที่พบบ่อยจากการตรวจสุขภาพในคนไข้ เช่น การตรวจวินิจฉัยและรักษาความผิดปกติของระบบประสาททุกประเภทและหลอดเลือดสมอง (Neurology and Stroke) โดยทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญ รวมทั้งนักกายภาพและหุ่นยนต์ ที่พร้อมสรรพให้การรักษา ดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ตลอดจนเตรียมจัดแพคเกจพิเศษการบริการตลอดปี 2565 รวมไปถึง การตรวจรักษาผู้เป็นเบาหวาน การติดตาม และให้การรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โรคที่ยากต่อการรักษาให้หายขาด ได้รับการรักษาถูกจุด ศูนย์การแพทย์นานาชาติ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์
นอกจากจะให้บริการดูแลรักษาและอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติ โดยทีมแพทย์ พยาบาล ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้ว โรงพยาบาล ยังจัดให้มีศูนย์บริการสำหรับชาวตะวันออกกลางและกลุ่ม CLMV ขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกสบายและเกิดความพึงพอใจสูงสุด โดยเจ้าหน้าที่คนไทยที่มีประสบการณ์ รวมทั้งการให้บริการติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตแต่ละประเทศและหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย
"ธุรกิจกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ แม้จะได้รับผลกระทบบ้างในระยะสั้นๆ จากวิกฤตโควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกคลี่คลายลง รัฐบาลเปิดประเทศ กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่หายไปก็เริ่มทยอยกลับมาด้วยความเชื่อมั่นในมาตรฐานคุณภาพการรักษาระดับสากล จึงเชื่อว่าธุรกิจโรงพยาบาลจะกลับมาเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว" นายสิริฯ กล่าว
สำหรับ กรณี คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้ใช้วิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ด้วยวิธี RT-PCR หลังพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธ์ เป็นสายพันธ์โอไมครอน จนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น รวมถึงอนุมัติเห็นชอบหลักการในการตรวจลงตราวีซาประเภทใหม่ เป็นวีซาเพื่อการรักษาพยาบาล หรือ Medical Treatment Visa เพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) และรองรับนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นวีซ่า 1 ปี ออกให้กับชาวต่างชาติที่เดินทางมารักษาพยาบาลในประเทศไทยในระยะยาว รวมทั้งผู้ติดตามไม่เกิน 3 คน นั้น นายสิริ กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นการป้องกันไม่ให้ไวรัสโควิดสายพันธ์โอไมครอน แพร่ระบาดในประเทศไทย รวมทั้ง เห็นด้วยกับการอนุมัติ วีซ่ารักษาพยาบาล 1 ปี เพราะไม่เพียงเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่มารักษาพยาบาล แต่ยังเป็นการขยายช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าต่างประเทศให้กว้างมากขึ้น ทำให้ประเทศไทย เป็นเมดิคอลฮับที่กลุ่มผู้ป่วยต่างประเทศไว้วางใจมารักษาพยาบาล เป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พ.ศ. 2560 - 2569 อีกด้วย