กว่าครึ่งทศวรรษที่ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ฝ่าฟันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อประเทศชาติได้บรรลุเป้าหมายนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มาถึงปีพ.ศ.2565 นี้ ได้เปิดมิติใหม่จาก "Technology Management" สู่ "Technology Institute" ภายใต้การบริหารโดยผู้อำนวยการท่านปัจจุบันรองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ อาจารย์วิศวกรชีวการแพทย์ผู้คร่ำหวอดด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน อาทิ"ALERTZ" หรือนวัตกรรมป้องกันการหลับในขณะขับรถหรือล่าสุด "CHEM METER" หรือเครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหาร โดยใช้หลักการวัดการนำไฟฟ้า เป็นต้น
"สิ่งที่เราจะได้เห็นนับจากนี้ไป คือ การพลิกโฉมสถาบัน iNT สู่การเป็น "Startup Incubation Academy" หรือสถาบันบ่มเพาะสตาร์ทอัพในเฟสแรกๆ อย่างจริงจัง หมดสมัยแล้วที่เราจะผลักดันนักศึกษาให้เป็นสตาร์ทอัพทีละราย ต่อไปจะได้เห็นกลุ่มสตาร์ทอัพเสริมแกร่งด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์ได้จริงแบบบูรณาการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการก้าวสู่การเป็นสตาร์อัพใน scale ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเป็นการร่วมผลักดันประเทศไทยให้สามารถก้าวสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมได้ทัดเทียมนานาประเทศต่อไป" รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ กล่าว
บทบาทหลักของสถาบัน iNT ต่อไป คือ "Facilitator" ผู้ผลักดันและส่งเสริมนักศึกษาสู่การเป็นสตาร์ทอัพให้ไปได้ถึงฝั่งฝัน โดยจะสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การเป็น "Startup Incubation Village" ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ด้วยการนำทรัพยากรที่มีอยู่แล้วของแต่ละคณะ/สถาบันของมหาวิทยาลัยมหิดลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีสถาบัน iNT ทำหน้าที่คอยให้คำปรึกษา และร่วมวางแผน ซึ่งจะเป็นทั้ง "Co-working Space" สำหรับพบปะระดมสมอง และ "Maker Space" ที่พร้อมด้วยอุปกรณ์สนับสนุนไอเดียให้เกิดเป็นรูปเป็นร่าง
นอกจากนี้ นักศึกษายังสามารถใช้ MaSHARES Co-working Space@MB สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลมหาวิทยาลัยมหิดล True LAB ชั้น 2 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล (MLC) และ ณ บริเวณหอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างสาขา โดยสถาบัน iNT พร้อมที่จะทำให้ทุกฝันของการมุ่งสู่เส้นทางสตาร์ทอัพเป็นจริง
ตัวอย่างที่นับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดลภายใต้การบ่มเพาะโดยสถาบัน iNT ได้แก่ กลุ่มสตาร์ทอัพนักศึกษาสาขาวิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย นายกวิน น้าวัฒนไพบูลย์ ที่ได้ต่อยอดพัฒนาชุดตรวจ RT-LAMP ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมร่วมระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จนปัจจุบันได้พัฒนาสู่เวอร์ชัน 3 ที่สามารถตรวจครอบคลุมสายพันธุ์OMICRON และสายพันธุ์อื่นๆ ที่ทางองค์การอนามัยโลก(WHO) ประกาศให้เฝ้าระวัง ได้แก่ DELTA, ALPHA และBETA
"สายพันธุ์ OMICRON เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสCOVID-19 จนทำให้สามารถเข้าไปจับกับเซลล์ในร่างกายได้ง่ายขึ้น ซึ่งการกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติของเชื้อไวรัสโดยทั่วไป สำหรับชุดตรวจ RT-LAMP เวอร์ชัน 3 นี้นอกจากผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยา (อย.) แล้ว ยังมีจุดเด่นที่ความไว และเวลาที่ใช้ตรวจที่สั้นกว่าสองเวอร์ชันแรก โดยมีความไวถึงร้อยละ 96.51 และใช้เวลาตรวจเพียง 30 นาทีจากการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก (Nasal Swab) หรือการป้ายลำคอ (Throat Swab) สามารถดูผลการติดเชื้อได้จากการเปลี่ยนสีของน้ำยา ผลลบจะเป็นสีชมพูเหมือนเดิม แต่ผลบวกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ชุดตรวจ RT-LAMP นี้ใช้ตรวจเฉพาะในห้องปฏิบัติการโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งให้ความแม่นยำกว่าการตรวจด้วย ATK" นายกวิน น้าวัฒนไพบูลย์ กล่าว
อาจารย์ แพทย์หญิงรพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงความห่วงใยประชาชนถึงการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ OMICRON ว่าสามารถทำได้ด้วยการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันCOVID-19 อย่างน้อย 2 เข็ม ซึ่งถึงแม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อที่กลายพันธุ์ได้ 100% แต่ก็สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการที่อาจเกิดขึ้นจนถึงกับต้องเข้ารับการรักษาในห้อง ICU ได้ โดยควรปฏิบัติตามสูตรการฉีดวัคซีนต่อเนื่องที่ประกาศโดยกรมควมคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
"การเตรียมพร้อมร่างกายก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันCOVID-19 ด้วยการควบคุมเบาหวาน ไขมัน ความดัน และน้ำหนักตัว จะทำให้เมื่อได้รับวัคซีนแล้วร่างกายจะแสดงปฏิกิริยาน้อยลง และถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ดูแลสุขภาพไปด้วย ซึ่งการฉีดวัคซีนควรทำเมื่อพร้อม และในรายที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนควรปรึกษาแพทย์" อาจารย์ แพทย์หญิงรพีพรรณ รัตนวงศ์นรามอร์ด กล่าวทิ้งท้าย