คณะกรรมการฯ - ผู้บริหาร ศูนย์คุณธรรม ลงพื้นที่ศึกษาดูงานชุมชนคุณธรรม ตำบลเจ็ดเสมียน พร้อมพบปะภาคีเครือข่ายทางสังคมเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนก้าวต่อการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรมจังหวัดราชบุรี
เมื่อวันที่ 25 - 26 มกราคม 2565 คณะกรรมการศูนย์คุณธรรม นำโดย นายวีระ โรจน์พจรัตน์ ประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม พร้อมด้วย รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม นำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ศูนย์คุณธรรม ลงพื้นที่ศึกษาดูงานจังหวัดส่งเสริมคุณธรรมราชบุรี ณ ศูนย์ส่งเสริมคุณธรรมตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม
กิจกรรมวันแรก ได้มีการพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างคณะกรรมการฯ-ผู้บริหาร ศูนย์คุณธรรม ผู้แทนจาก 3 ภาคีเครือข่ายซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนจังหวัดคุณธรรมราชบุรี ได้แก่ เครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน เครือข่ายภาครัฐ และเครือข่ายภาคประชาสังคม และชุมชน รวมทั้ง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี ร่วมฉายภาพถึงผลการขับเคลื่อนจังหวัดส่งเสริมคุณธรรมราชบุรี ตั้งแต่ช่วงปี 2558 ถึงปัจจุบัน ณ โรงแรมราชาบุระ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
โดยการดำเนินงานจังหวัดส่งเสริมคุณธรรมราชบุรี เริ่มในปี 2558 จากเวทีสมัชชาคุณธรรมประเทศไทย ครั้งที่ 7 ได้มีปฏิญญาร่วมกัน ที่จะสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมคุณธรรม โดยการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และบูรณาการทุกภาคส่วนมาสู่การรวมพลังแก้ไขปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม โดยมุ่งดำเนินการให้เกิดรูปธรรมในพื้นที่
จากมติดังกล่าว ศูนย์คุณธรรมจึงได้พิจารณาคัดเลือก 4 จังหวัดคุณธรรมนำร่อง โดยราชบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดคุณธรรมนำร่อง เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีพลังเครือข่ายทางสังคม และพลังทางนโยบายมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมของประชาชนในพื้นที่ โดยเริ่มขับเคลื่อนจาก วัด ชุมชน โรงเรียน และโรงพยาบาลคุณธรรม กระทั่งปี 2559 ผู้ว่าราชการงจังหวัด และภาคีเครือข่าย 9 องค์กร ได้ประกาศเป็นวาระ ให้จังหวัดราชบุรี เป็นเมืองแห่งความจงรักภักดี ประชาชนมีวิถีพอเพียง สามัคคี และมีวินัย ขับเคลื่อนด้วยกระบวนการ "ตลาดนัดความดี" มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐและประชาชนภาคส่วนต่างๆ เกิดความตื่นตัว เกิดอำเภอคุณธรรม และมีบุคคล องค์กรต้นแบบด้านคุณธรรม และในปี 2560 เกิดแผนการบูรณาการการขับเคลื่อนคุณธรรมระดับจังหวัด และเครือข่ายคุณธรรมครอบคลุมทุกพื้นที่
ปัจจุบัน จังหวัดราชบุรีมีจำนวนภาคีเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนงานด้านคุณธรรม ทั้งหมด 10 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายชุมชนคุณธรรม เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล เครือข่ายสวัสดิการชุมชน เครือข่ายสาธารณสุข เครือข่ายการศึกษา เครือข่ายประชาสังคม เครือข่ายศาสนา เครือข่ายอำเภอคุณธรรม เครือข่ายท้องถิ่นคุณธรรม และเครือข่ายสถานประกอบการ/ธุรกิจเอกชน ภายใต้ 5 หลักคุณธรรม คือ "พอเพียง สามัคคี มีวินัย สุจริต จิตอาสา"
กิจกรรมวันที่สอง ลงพื้นที่ ณ ศูนย์ส่งเสริมคุณธรรมตำบลเจ็ดเสมียน ร่วมเยี่ยมชมบูธนิทรรศการต่างๆ รวมทั้ง การนำเสนอกระบวนการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งเป็นสุขด้วยหลักชุมชน จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบเวทีธรรมชาติ ซึ่งจะได้รับรู้ถึงขนมธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นเด่นๆ ของชาวเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี, การนำเสนอความเป็นมาของชุมชน โดย คุณธนากร สดใส ผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ เจ้าของผลิตภัณฑ์ตานีสยาม และชมการนำเสนอชุด "รากเหง้าทางวัฒนธรรม" ด้วยกระบวนการขับเคลื่อนของชุมชนคุณธรรมที่มีความเข้มแข็ง ผนวกกับวิถีของชุมชนกับงานศิลปะ ผ่านการนำเสนอความเชื่อสู่งานแฟชั่น โดยมี คุณณรงค์เดช แก้วอุย ปลัดอาวุโส อำเภอโพธาราม , คุณจารี กองโชคปัญญา รองนายกเทศมนตรีตำบลเจ็ดเสมียน และคุณกิตติพล พรพิทักษ์พงศ์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี เขตอำเภอโพธาราม ร่วมให้การต้อนรับ
นายวีระ โรจน์พจรัตน์ ประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า การส่งเสริมเรื่องคุณธรรมในแต่ละจังหวัดนั้นไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบที่เหมือนกัน เพียงแต่ดำเนินงานภายใต้บริบทของแต่ละพื้นที่ที่มีทุนเดิมอยู่ ซึ่งการศึกษาดูงานครั้งนี้ ถือได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่นอกจากจะได้เห็นกระบวนการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งเป็นสุขด้วยหลักชุมชนคุณธรรมแล้วนั้น หัวใจสำคัญคงเป็นเรื่องของการนำแก่นแท้ของถิ่นฐานกำเนิด "รากเหง้าทางวัฒนธรรม" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีในพื้นที่ที่นำไปสู่การพัฒนาชุมชนคุณธรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม การรู้จักหยิบยกภูมิปัญญาท้องถิ่นนำมาต่อยอดให้เป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย ตอบโจทย์กับยุคสมัยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยไม่ทิ้งรากเหง้าเดิม และสิ่งที่น่าภาคภูมิใจและประทับใจเป็นอย่างมาก คือคนในชุมชนล้วนแต่เป็นผู้มีจิตอาสา ส่งผลให้การพัฒนาและการขับเคลื่อนงานด้านคุณธรรมในมิติต่างๆ เป็นไปอย่างง่ายดาย จึงเป็นจุดศูนย์รวมของคุณธรรมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น วัด โรงเรียน ชุมชน "ตำบลเจ็ดเสมียน" จึงถือเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมต่องานด้านคุณธรรมในจังหวัดราชบุรี
ประธานกรรมการ ศคธ. กล่าวต่ออีกว่า ด้วยบทบาทภารกิจของศูนย์คุณธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนคุณธรรมความดี ภายใต้บริบทของสังคมไทย ดังนั้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสองวันนี้ นอกจากจะเป็นการเรียนรู้อดีต ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ในปัจจุบันที่สามารถนำไปถอดบทเรียน ขยายผลความดีงาม กระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับสังคม ชุมชน ในบ้านเมืองเราได้นำไปปรับใช้ ร่วมกันขยายผล และส่งเสริมสังคมแห่งคุณธรรมให้กับประเทศต่อไป โดยศูนย์คุณธรรมจะร่วมขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่องและกำหนดบทบาทการขับเคลื่อนงานด้านคุณธรรมให้ชัดเจน
ด้าน รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 นี้ ศูนย์คุณธรรม มีแผนที่จะดำเนินการเลือก 10 พื้นที่ เพื่อศึกษาระบบโซเชียลเครดิตในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจังหวัดราชบุรี จะเป็นหนึ่งในจังหวัดคุณธรรมที่จะเข้าไปศึกษา ทั้งนี้ จะเลือกศึกษาในระดับหมู่บ้าน ชุมชน องค์กร ก่อน โดยที่ยังไม่ลงไปที่ตัวบุคคล เนื่องจากวิธีการที่จะทำให้มนุษย์เปลี่ยนพฤติกรรมได้ มี 2 รูปแบบ คือ 1. เปลี่ยนที่ตัวบุคคล และ 2. เปลี่ยนที่ระบบนิเวศ ซึ่งการศึกษาถึงกระบวนการของระบบโซเชียลเครดิตครั้งนี้จะให้ข้อมูลได้ว่าจริง ๆ แล้วนั้น เมื่อใดที่บุคคลได้ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศดี ไม่ว่าจะอยู่ในหมู่บ้าน องค์กร ชุมชนคุณธรรมก็ตามแต่ จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีหนึ่งกิจกรรมสำคัญ คือ "ตลาดนัดความสุขชุมชน" ซึ่งในปีนี้ทางศูนย์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจจังหวัดราชบุรี หรือศูนย์ CSR จังหวัดราชบุรี โดยเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน จะเป็นหน่วยสำคัญในการขับเคลื่อนจัดกิจกรรมด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นเวทีที่เปิดให้หน่วยงาน/องค์กร มาร่วมกันโชว์ แชร์ เชื่อม ผลงาน โดยคาดว่าจะจัดกิจกรรมในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2565
ผอ.ศคธ. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในเรื่องของกระบวนการที่จะไปสนับสนุนขับเคลื่อนคุณธรรม ด้วยบทบาทภารกิจของศูนย์ฯ ซึ่งเป็นทั้ง Coaching และมีการพัฒนาวิทยากรส่งเสริมคุณธรรม รวมทั้ง knowhow ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยจังหวัดราชบุรีถือเป็นหนึ่งในจังหวัดคุณธรรมทุนเดิมของศูนย์คุณธรรมที่มีมาตั้งแต่ต้น รวมทั้งอีก 4 จังหวัดคุณธรรมนำร่องที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ปัจจุบัน และจังหวัดอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยทั้งหมดนี้ถือเป็นจังหวัดทุนเดิมที่จะร่วมกันเสริมหนุนจับมือกันในการโชว์ แชร์ เชื่อม ความดี แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และขยายผลร่วมกันทำให้ "คนดีมีพื่นที่ยืน ความดีมีพื้นที่ในสังคม" กระจายสู่จังหวัดคุณธรรมอื่นต่อไป