เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวต้อนรับในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และเผยแพร่ผลการศึกษาเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง "พลวัตของการปล่อย PM2.5 และสารตั้งต้นที่ก่อให้เกิด PM2.5 ทุติยภูมิในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง" ในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้โครงการ การจัดทำแนวทางการจัดการฝุ่น PM2.5 โดยการวิจัยการเกิดอนุภาคทุติยภูมิจากการใช้ระบบแบบจำลองการจัดการคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคกลาง จัดโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สนับสนุนโครงการโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน
รศ. ดร.สาวิตรี การีเวทย์ ประธานสายวิชาสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มจธ. หัวหน้าคณะวิจัยโครงการนำเสนอผลงานการศึกษาด้าน "พลวัตของการปล่อย PM2.5 และสารตั้งต้นที่ก่อให้เกิด PM2.5 ทุติยภูมิในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง" ที่ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาพลวัตของการระบายมลพิษทางอากาศ PM2.5 และสารตั้งต้นที่ก่อให้เกิด PM2.5 ทุติยภูมิมีบทบาทสำคัญ ในการจัดทำแนวทางและมาตรการในการลดปริมาณ PM2.5 ในบรรยากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้ ในการศึกษาพลวัตดังกล่าว ระบบบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศ (Emission Inventory) ที่มีความละเอียดสูง ในส่วนการกระจายตัวเชิงพื้นที่ (Spatial) และ เชิงช่วงเวลา (Temporal) การปล่อยจากแหล่งกำเนิด เป็นเครื่องมือและข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญที่สุด โดยระบบฯ ที่คณะวิจัยได้พัฒนาขึ้นสำหรับการระบายมลพิษทางอากาศในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) ช่วยให้เข้าใจบทบาทของแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพฯและภาคกลาง ที่มีต่อสถานการณ์วิกกฤตมลภาวะจาก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ซึ่งจะช่วยให้การวางแผนและมาตรการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ระบบ Emission Inventory ดังกล่าว ยังสามารถนำมาใช้ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดเดียวกันกับมลพิษฝุ่น PM2.5 และสารตั้งต้นที่ก่อให้เกิด PM2.5 ทุติยภูมิ ช่วยให้สามารถประเมินผลประโยชน์ร่วมที่เกิดขึ้นของการลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ และวางแผนและนโยบายที่นำประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปีค.ศ. 2050 และ Climate Neutrality ในปีค.ศ. 2065 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 170 คน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในภาครัฐและเอกชน และสถาบันอุดมศึกษาและวิจัย นับเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนในประเด็นของ PM 2.5 ที่เป็นปัญหาของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี โดยองค์ความรู้ ผลการศึกษาจากงานวิจัย และทุกความเห็น จะถูกนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัย วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ฝุ่นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลในอนาคตได้อย่างตรงจุดต่อไป