"Bangkok Design Week" ยกระดับ "กรุงเทพ" สู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก
หากกล่าวถึง "เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ" หรือ "Bangkok Design Week" หลายคนคงถึงอีเวนท์ที่เต็มไปด้วยงานอาร์ต งานศิลปะ กิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างสีสันและประสบการณ์ใหม่ แทรกตัวอยู่ตามตรอก ซอย ร้านเล็กๆ พื้นที่สาธารณะ เพื่อดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสกับ "กรุงเทพฯ" มหานครที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งความหลากหลาย
"เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ" นับเป็นเทศกาลฯสำคัญของเมืองไทยที่ได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร หนึ่งในกิจกรรมสำคัญในการของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2561 ดำเนินการโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 60 หน่วยงาน รวมถึงนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2,000 ราย มุ่งเน้นในการนำเสนองานออกแบบและงานสร้างสรรค์ ที่สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของกรุงเทพฯ ต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผ่านงานสร้างสรรค์ตั้งแต่ระดับของงานทดลองไปจนถึงผลงานที่ส่งผลด้านธุรกิจและเพื่อสังคม ที่จัดแสดงในย่านสร้างสรรค์ (Creative Districts) ต่างๆ ที่กลมกลืนไปกับบริบทอันเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ส่งผลให้ "กรุงเทพฯ" ขึ้นแท่นเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (Bangkok City of Design) ภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network)
สร้าง Snowball Effect ทางเศรษฐกิจ
ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า ตลอดระยะ เวลา 4 ปีที่ผ่านมา "เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ" สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างเทศกาลฯ รวมเป็นจำนวนสูงถึง 969 ล้านบาท มีผู้เข้าชมเทศกาลฯ กว่า 1.3 ล้านคน โดยเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ และศักยภาพสำคัญของนักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ หน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ไปจนถึงหน่วยงานความร่วมมือต่างๆ ทั้งจากในและต่างประเทศ
"อย่างไรก็ดี งาน Design Week หรือ Design Festival ไม่ได้เป็นแค่เพียงหนึ่งในเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เท่านั้น แต่มันคือเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยกระดับให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้การออกแบบเป็นอาวุธสำคัญ อีกทั้งยังเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้จริง"
โมเดลการออกแบบเพื่อเมืองน่าอยู่
ที่ผ่านมา "เทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ" ยังจุดประกายให้เกิดโครงการที่ใช้กระบวนการออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม ตั้งแต่การสำรวจปัญหา ไปจนถึงการร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่ตอบโจทย์การใช้งานของชุมชน อย่างเช่นโครงการ พัฒนาป้ายรถประจำทางในย่านเจริญกรุง ในปี 2561 ที่เรียกได้ว่าเป็นป้ายรถเมล์ที่เปลี่ยนเมืองให้น่าอยู่มากขึ้น โดยกลุ่มนักออกแบบ MAYDAY! และผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป ร่วมกับ CEA สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยมีการทำ Workshop สร้างสรรค์ป้ายรถเมล์จากความต้องการของผู้ใช้งานจนเกิดเป็นป้ายรถเมล์ที่ใช้งานได้จริง รูปลักษณ์สวยงามและทำให้ผู้โดยสารไม่หลงทางอีกต่อไป
อีกหนึ่งโปรเจคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 และยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ "Made in เจริญกรุง" โปรเจคต่อยอดสินทรัพย์ล้ำค่า ร้านค้าดั้งเดิมย่านเจริญกรุง โดยการ หยิบ จับ ปรับ ผสม ทักษะรุ่นเก๋ากับไอเดียคนรุ่นใหม่ ให้ออกมาเป็น "ของดีประจำย่านเจริญกรุง" เวอร์ชั่นพิเศษ สร้างสรรค์โดยชาวเจริญกรุง ที่จะช่วยทำให้คนดั้งเดิมในย่านมองเห็นโอกาสว่า อะไร ๆ ก็เป็นไปได้ ถ้ามีความคิดสร้างสรรค์ และลุกขึ้นมาเรียนรู้ ปรับตัวให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์ตลาดยุคใหม่ได้ด้วยตัวเอง เพราะมี "ดี" อย่างเดียวไม่พอ ต้อง "ขายได้" ด้วย
โปรเจคนี้เป็นการทำงานร่วมกันของนักออกแบบ ร้านค้า ช่างฝีมือ ทั้งในย่านและนอกย่าน ทีใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเป็นเครื่องมือสำคัญ สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ยังคงกลิ่นอายดั้งเดิมเอาไว้ และทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะย่านเจริญกรุงเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านี้ ภารกิจที่สำคัญของงานเทศกาลฯ นอกเหนือจากการเป็นกิจกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแล้ว ยังต่อยอดได้ทั้งในแง่ของการเป็นเวทีแสดงผลงานของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถสร้าง Snowball Effect ทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแค่ทำให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เจริญเติบโต แต่ยังส่งผลกระทบเชิงบวกที่ขยายผลสู่ธุรกิจแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การตลาด การพิมพ์ สื่อออนไลน์ แกลเลอรี ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ธุรกิจของฝาก-ของที่ระลึก ลอจิสติกส์ การท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม และบริการขนส่งมวลชน ฯลฯ รวมทั้งการนำผลงานการออกแบบสร้างสรรค์แทรกไปในย่านชุมชน ก่อให้เกิดการพัฒนาในย่านสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับและสร้างคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนให้ดีขึ้นอีกด้วย
Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด
ร่วมหาทางรอดได้ใน BKKDW2022
สำหรับในปีนี้ เป้าหมายหลักของ BKKDW2022 ด้วยการเปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์และผู้มีความรู้ในสาขาต่าง ๆ ได้มาร่วมกันคิด ร่วมกันทดลองไอเดียการอยู่ร่วมกับ COVID-19 ค้นหาโอกาสในการต่อยอดไปสู่การสร้างวิถีชีวิตใหม่ ด้วยการใช้ต้นทุนความคิดสร้างสรรค์ในหลากหลายแง่มุมเพื่อทำให้เรายังคงดำเนินชีวิตได้ตามปกติ (ใหม่) และเตรียมตัวสำหรับอนาคต เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 หรือ Bangkok Design Week 2022 (BKKDW2022) กำหนดจัดเป็นครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด "Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด" ระหว่างวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565
อัดแน่น 9 วัน 200 โปรแกรม
เปิดตัว"พระนคร"ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งใหม่
ตลอด 9 วัน อัดแน่นกว่า 200 โปรแกรมให้เตรียมพร้อมอัพเดตเทรนด์สร้างสรรค์ใหม่ๆ พบกับงานดีไซน์ที่ "CO" กับคุณและเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัว กับการเปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์ องค์กรและหน่วยงานในสาขาต่าง ๆ ได้มาร่วมกันคิด ร่วมกันทดลองไอเดียการอยู่ร่วมกับ COVID-19 ให้เป็นปฐมบทของการคิด ใน 5 ย่านสร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละพื้นที่ย่านจะมีอัตลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะโดดเด่นแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นย่าน เจริญกรุง-ตลาดน้อย : ยิ่งเก่ายิ่งเจ๋ง, สามย่าน : ครบสูตรย่านเรียนรู้มาคู่ตำนานอร่อย, อารีย์-ประดิพัทธ์ : ชิคสุดไม่ตกเทรนด์, ทองหล่อ-เอกมัย : ย่านดีไซน์ผู้มาก่อนกาล และล่าสุดย่าน "พระนคร" อีกหนึ่งย่านเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ จะเปิดตัวในฐานะหนึ่งย่านหลักที่ร่วมจัดเทศกาลฯ เป็นครั้งแรก ย่านที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตที่พร้อมต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้เข้ากับเมืองในมิติต่าง ๆ และพื้นที่อื่น ๆ อีกมากมาย
ภาพ : Charoenkrung Creative District
ด้านนายสุกฤษฐิ์ ศรหิรัญ ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ของอาคารชัยพัฒนสิน อาคารเก่าสีส้มอายุนับร้อยปีในย่านเจริญกรุง กล่าวเสริมว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มมีงาน Bangkok Design Week ส่งผลให้เจริญกรุงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่มีภาพของความเป็นเซียงกงในอดีต มาชัดเจนของความเป็นย่าน Creative District มากขึ้น มีร้านค้า คาเฟ่ ร้านอาหารเปิดขึ้นจำนวนมากกลายเป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาอาคารเก่าอายุกว่าร้อยปีของคุณตาที่ถูกปิดไว้เฉยๆ มาพัฒนาเป็นลานสเก็ต และมีแผนที่จะขยายสู่การเป็น Community Space โดยล่าสุดในปีนี้ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2022 ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินเข้ามาใช้สถานที่จัดงานอีกด้วย
ร่วมค้นหาไอเดียสร้างสรรค์อีกครั้ง ในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 "Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด" ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565
ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมที่น่าสนใจที่
www.bangkokdesignweek.com FB/IG: BangkokDesignWeek
Line@: BangkokDesignWeek Twitter: BKKDesignweek
เกี่ยวกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) : สศส. หรือ Creative Economy Agency (Public Organization) : CEA จัดตั้งขึ้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2561 โดยการยกระดับ TCDC ขึ้นเป็นองค์การมหาชน ในกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืนในระยะยาว หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของ CEA คือ การสร้างย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง โดยการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างสรรค์และการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ตลอดจนมีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงสู่ชุมชนโดยรอบให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น CEA ยังทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 15 สาขาให้เติบโตจากการพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือยกระดับธุรกิจ และคุณภาพชีวิตของคนไทย