นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดงาน OTOP ภูมิภาค พร้อมด้วย ผศ.ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายคมกริช ชินชนะ ผู้ตรวจราชการกรม ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน โดยมี นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นางสาวสิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นางทัศนาวัลย์ วิริยานภาภรณ์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดหนองคาย นายไพโรจน์ โสภาพร พัฒนาการจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยผู้บริหารจังหวัดหนองคาย ให้การต้อนรับ ณ ลานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 60 พรรษา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า "ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน OTOP ภูมิภาคจังหวัดหนองคาย ในวันนี้ ตามที่ รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งหัวใจสำคัญของโครงการ OTOP อยู่ที่การส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนผลิต สามารถมีช่องทางในการจำหน่ายเพิ่มขึ้นตามแนวคิด "การตลาด นำการผลิต" โครงการ OTOP ภูมิภาค เป็นโครงการหนึ่งที่ช่วยในการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้า OTOP นอกจากนี้โครงการนี้ยังทำให้ประชาชนในจังหวัดพื้นที่ดำเนินการ ได้เรียนรู้รูปแบบผลิตภัณฑ์ OTOP ของภูมิภาคอื่น เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ของตนเองให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลได้ในที่สุด สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 การจัดงาน OTOP ภูมิภาค มีเป้าหมายดำเนินการ จำนวน 5 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดแพร่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดกาญจนบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานการใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาสินค้า OTOP เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ การดำเนินงานโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ได้เรียนรู้ทักษะด้านการบริหารจัดการและการตลาด การจัดงานครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "ความสุขผลิบานทั่วไทย" ช้อป คุ้ม ครบ จบที่เดียว ซึ่งเป็นการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ มาช่วยสร้างโอกาสในการเรียนรู้และเพิ่มทักษะในการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ 0TOP ตามนโยบายรัฐบาลที่ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด สร้างรายได้ให้กับชุมชน ทำให้สุขภาพเดินคู่ไปกับเศรษฐกิจให้ได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covic-19) โดยภายในงานมีการรวบรวมสินค้า OTOP มากมายจาก 5 ประเภท ได้แก่ อาหาร, เครื่องดื่ม, ผ้า, เครื่องแต่งกาย, ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร และรวมไปถึง OTOP ชวนชิมที่มีชื่อเสียงมาจำหน่าย มีการสาธิตและแสดงกระบวนการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นสินค้า OTOP รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขาย การแสดงศิลปวัฒนธรรม มินิคอนเสิร์ตศิลปินนักร้อง และไฮไลท์พิเศษกับการแสดงแสงเสียงในระบบ Multimedia และอื่นๆ อีกมากมาย
ขอขอบคุณส่วนราชการ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุน มีส่วนช่วยให้งานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล สามารถขับเคลื่อนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ผมขออำนวยพร ให้การจัดงานประสบผลสำเร็จตามเจตจำนงทุกประการ ขอเชิญชวน พี่น้องประชาชนในจังหวัดหนองคายและจังหวัดใกล้เคียง ช่วยกันสนับสนุนสินค้า OTOP จากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มาจำหน่ายในจังหวัดหนองคาย ตลอด 7 วันนี้ ระหว่างวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2565 การจัดงานในครั้งนี้ผู้ประกอบการได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็มทุกราย มีการสุ่มตรวจ ATK ตลอดงาน และมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด" อธิบดี พช. กล่าว
นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า "รู้สึกยินดีและขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ได้เข้ามาสนับสนุน การจัดงาน OTOP ภูมิภาค จังหวัดหนองคาย ซึ่งจังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ค้าขายผ่านด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2564 มากกว่า 64,000 ล้านบาท ด้วยสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มีความเหมาะสม และพื้นที่มีต้นทุนทรัพยากรที่หลากหลาย ประกอบกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่เดิม นับเป็นส่วนสำคัญในการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กับชาวหนองคายเป็นอย่างดี และครั้งนี้ภาครัฐได้จัดงานอันเป็นการเพิ่มพื้นที่ซื้อขาย ก่อให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ชุมชน เป็นการส่งความสุขให้แก่พี่น้องชาวหนองคาย นับเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่ในการจับจ่ายสินค้า จากผู้ผลิตโดยตรง และเปิดช่องทางการแลกเปลี่ยนกันเอง และสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลได้ในที่สุด"