งานเจรจาธุรกิจวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่นครั้งที่ 3 จัดยิ่งใหญ่อีกครั้งพร้อมผู้ประกอบการญี่ปุ่นเข้าร่วมกว่า 100 บริษัท ต่อเนื่องจากผลสำเร็จครั้งที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 578 ล้านบาท
ปี 2564 เป็นปีแรกที่ประเทศญี่ปุ่นมียอดการส่งออกสินค้าการเกษตร ประมง และวัตถุดิบอาหารมากกว่า 1 ล้านล้านเยน (ประมาณ 284,900 ล้านบาท มูลค่ารวมตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน คิดเป็น 1,077,900 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 26.8%) และมียอดส่งออกมายังประเทศไทยรวม 40,100 ล้านเยน (ประมาณ 11,400 ล้านบาท) เป็นยอดรวมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเทียบเท่ากับยอดรวมทั้งปีของปี 2563
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ได้จัดงานเจรจาธุรกิจออนไลน์อาหารและวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่น "JETRO Online Business Matching & Exhibition of Japanese Food Products FY 2021" ทั้งหมด 3 ครั้ง ในปีงบประมาณ 2564 ของญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายช่องทางการตลาดให้กับผู้ส่งออกสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้งานเจรจาธุรกิจครั้งที่ 3 กำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นเข้าร่วมกว่า 135 บริษัทจาก 40 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่น และคาดการณ์การจับคู่เจรจาธุรกิจกว่า 174 คู่เจรจา มีสินค้าหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว อาหารทะเล ชา เครื่องปรุง ขนม เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ผลจากการจัดงานเจรจาธุรกิจในครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมและเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดมูลค่าการซื้อขาย(รวมยอดประมาณการณ์) กว่า 2,000 ล้านเยน (ประมาณ 578 ล้านบาท) คิดเป็น 5% ของมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่นมายังประเทศไทยในปี 2563 ซึ่งมีมูลค่า 40,100 ล้านเยน (ประมาณ 11,400 ล้านบาท) แม้ว่าด้วยสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิดในปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ เจโทรมุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านงานเจรจาธุรกิจออนไลน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดงานครั้งนี้ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
รายละเอียดงานเจรจาธุรกิจครั้งที่ 3 (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มกราคม 2564)
ชื่องาน JETRO Online Business Matching & Exhibition of Japanese Food Products FY 2021
ผู้จัด องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ)
ระยะเวลา วันที่ 7 - 25 กุมภาพันธ์ 2565
จัดแสดงตัวอย่างสินค้าถึงเดือนมีนาคม 2565
- จำนวนผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เข้าร่วมโครงการ: 135 บริษัท
- จำนวนผู้ประกอบการในประเทศไทย: 90 บริษัท
- จำนวนคู่เจรจาธุรกิจ: 174 คู่เจรจา
- เจรจาธุรกิจผ่านโปรแกรม zoom (พร้อมล่ามไทย-ญี่ปุ่นทุกคู่เจรจา)
- การจัดส่งสินค้าตัวอย่าง: ผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ต้องการจัดส่งสินค้าตัวอย่างให้คู่เจรจาธุรกิจ สามารถส่งสินค้ามายังประเทศไทย และผู้ประสานงานจัดส่งให้กับคู่เจรจาธุรกิจก่อนเริ่มการเจรจา
- เว็บไซต์งานเจรจาธุรกิจ: https://food.thai-japan.net/
ผลการจัดงานเจรจาธุรกิจครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
งานเจรจาธุรกิจครั้งที่ 1 และ 2 สามารถจับคู่เจรจาธุรกิจได้มากกว่า 400 คู่เจรจาทั้งสองครั้ง เนื่องด้วยวิธีการจัดกิจกรรมที่ทำให้การเจรจาธุรกิจสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น โดยการประชาสัมพันธ์ข้อมูลความสนใจของผู้ประกอบการในประเทศไทยผ่านทางเวปไซต์ เพื่อรับสมัครผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่สนใจเข้าร่วมโครงการในเบื้องต้น จากนั้นนำเสนอข้อมูลสินค้าของผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เข้าร่วมให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทย เพื่อทำการนัดเจรจาธุรกิจ นอกจากนั้น ยังจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสในการซื้อขายจริงอีกด้วย เช่น การให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นก่อนเริ่มการเจรจาธุรกิจ การส่งตัวอย่างสินค้าจริงให้ผู้ประกอบการในประเทศไทย เป็นต้น
จากผลของการจัดกิจกรรมข้างต้น สามารถสร้างมูลค่าการซื้อขายสินค้า 1,113 รายการได้กว่า 2,000 ล้านเยน (ประมาณ 578 ล้านบาท รวมตัวเลขประมาณการณ์การซื้อขาย) คิดเป็น 5% ของมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่นมายังประเทศไทยในปี 2563 ซึ่งมีมูลค่า 40,100 ล้านเยน (ประมาณ 11,400 ล้านบาท)
ตัวอย่างสินค้าที่มีการซื้อขาย / ประมาณการณ์ซื้อขาย
อาหารทะเลและอาหารทะเลแปรรูป (หอยโฮตาเตะ กุ้งโบตั๋น ไข่หอยเม่น หอยนางรม) เนื้อวะกิว เหล้าสาเกญี่ปุ่น เครื่องปรุง (โชยุ เหล้าประกอบอาหาร น้ำส้มยูสุ) ขนม ชา (มัจฉะ ชาข้าวบาร์เลย์คั่ว) เครื่องดื่มทั่วไป เป็นต้น