สทนช.จัดเวทีชี้แจงผลศึกษาทางเลือกผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เสริมความมั่นคงน้ำภาคตะวันออก

ข่าวทั่วไป Thursday February 3, 2022 13:17 —ThaiPR.net

สทนช.จัดเวทีชี้แจงผลศึกษาทางเลือกผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เสริมความมั่นคงน้ำภาคตะวันออก

สทนช.เปิดเวทีรับฟังความเห็นภาคส่วนเกี่ยวข้องจากระยอง - ชลบุรี ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อปรับปรุงสรุปผลศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รองรับความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ก่อนเสนอ กนช.รับทราบความก้าวหน้าต้น มี.ค.นี้

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศ "โครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก" โดยมี ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวต้อนรับ นางพัชรวีร์ สุวรรณิก ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สทนช. กล่าวรายงาน โดยเป็นการประชุมพร้อมกัน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง ณ โรงแรมแคนทารี เบย์โฮเทล แอนด์เซอร์วิส อพาร์ทเมนท์ และถ่ายทอดการประชุม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปยังจังหวัดชลบุรี ณ โรงแรม อวานี พัทยา รีสอร์ท โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน ประกอบด้วย กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจากการพัฒนาโครงการ หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการโรงแรม องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้ใช้น้ำ นักวิชาการอิสระ สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 - 2580) เพื่อเป็นการเตรียมรองรับความต้องการใช้น้ำที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต 20 ปี ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำสูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในปัจจุบัน จึงจำเป็นที่จะต้องจัดหาน้ำต้นทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในพื้นที่ และจัดสรรน้ำให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างสมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ชาติ ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาคส่วนต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทางเลือก โดยใช้เทคโนโลยีที่ให้น้ำในปริมาณสูงเพียงพอที่จะเสริมความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC ได้อย่างยั่งยืน เช่น การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) เป็นต้น โดยพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ได้แก่ พื้นที่เศรษฐกิจตามแนวชายฝั่งซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องการความมั่นคงด้านน้ำสูง ปัจจุบันมีทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง และเมืองท่องเที่ยว เช่น เมืองพัทยา

อย่างไรก็ตาม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการผลิตน้ำในปริมาณสูง จำเป็นต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ทั้งด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงศึกษารูปแบบของการลงทุนที่มีความเหมาะสม เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการความเสี่ยงของทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง สทนช. ได้มอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลเพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการศึกษา คือ 1) แก้ไขปัญหาลดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำของพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน 2) เสนอแนวทางการใช้น้ำจืดที่ผลิตจากน้ำทะเลร่วมกับการบริหารจัดการน้ำต้นทุนอื่น ๆ เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยองอย่างมีประสิทธิภาพ 3) ศึกษาปริมาณและคุณภาพน้ำที่ต้องการสำหรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและเมืองพัทยา และ 4) เสนอรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม แนวทางการคำนวณเพื่อกำหนดราคาค่าน้ำ และปัจจัยที่ควรพิจารณาในการจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อการลงทุนและการก่อสร้างโครงการต่อไป

"การประชุมปัจฉิมนิเทศในวันนี้ ทางคณะผู้ศึกษาได้นำเสนอผลการศึกษาของโครงการในด้านต่าง ๆ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบ และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษาของโครงการให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช.รับทราบในต้นเดือนมีนาคมนี้" ดร.สุรสีห์ กล่าว.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ