นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ครั่ง เป็นยางหรือชันที่ได้จากแมลงครั่ง ซึ่งจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีอนาคตไกลชนิดหนึ่ง โดยในปี 2564 มีเกษตรกรผู้เลี้ยงครั่ง 4,015 ราย มีพื้นที่เลี้ยงครั่ง 7,541 ไร่ ปริมาณผลผลิตครั่งดิบ ประมาณ 4,100 ตัน มีมูลค่าการส่งออกครั่งกว่า 126.43 ล้านบาท และเนื่องจากในการเลี้ยงครั่งเกษตรกรไม่ต้องดูแลมาก ลงทุนน้อย ให้ผลผลิตดี ใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 12 เดือน ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตครั่งดิบได้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงแนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงครั่งเป็นอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในครัวเรือน โดยครั่งจะเจริญเติบโตได้ดีบนต้นไม้ที่มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม มีเรือนยอดแผ่กว้าง โปร่งมีอากาศถ่ายเทดี และอายุของกิ่งต้องไม่แก่และไม่อ่อนจนเกินไป ได้แก่ ต้นจามจุรี (ฉำฉา หรือ ก้ามปู) พุทราป่า ลิ้นจี่ สะแก ปันแถ มะแฮะนก สีเสียดออสเตรเลีย ไทร และต้นมะเดื่ออุทุมพร นอกจากนี้พื้นที่ปลูกต้นไม้เลี้ยงครั่งจะต้องมีสภาพแวดล้อมและมีอุณหภูมิที่เหมาะสม และควรจะตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานรับซื้อครั่งดิบ ซึ่งประเทศไทยมีการเลี้ยงครั่งมากในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้คุณภาพของครั่งจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิดของต้นไม้ อายุของต้นไม้และอายุของกิ่ง จำนวนที่ปล่อย พันธุ์ ฤดูที่เลี้ยง และศัตรูของครั่ง เป็นต้น
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ครั่ง เป็นแมลงจำพวกเพลี้ยชนิดหนึ่ง ครั่งจะขับถ่ายสารเหนียวสีเหลืองออกมา จะมีลักษณะเป็นยางหรือชัน และเมื่อถูกอากาศจะแข็งตัวกลายเป็นสีน้ำตาลหุ้มรอบกิ่งไม้ที่แมลงครั่งอาศัยอยู่ ครั่งที่เก็บได้จากต้นไม้เรียกว่า "ครั่งดิบ" มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เรซิน ขี้ผึ้ง สี ซาก ตัวครั่ง และสารอื่น ๆ เมื่อนำครั่งมาแปรรูปจะได้เป็นเชลแลค ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมยา โดยนำเชลแลคมาเคลือบยาเม็ดเพื่อป้องกันความชื้น และป้องกันตัวยาทำปฏิกริยากับกรดในกระเพาะอาหาร อุตสาหกรรมกระดาษ นำเชลแลคมาใช้เคลือบกระดาษเพื่อช่วยให้แข็งแรงสวยงาม ป้องกันการเปื้อนสกปรก และใช้เป็นตัวประสานในการผลิตกระดาษสำหรับภาชนะบรรจุอาหาร อุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ นำเชลแลคมาใช้ในการทำหมึกเขียนชนิดกันน้ำ ปัจจุบันมีการผลิตหมึกพิมพ์ชนิดใหม่ที่แห้งเร็วสามารถกันน้ำได้และพิมพ์ด้วยเครื่องจักรที่มีความเร็วสูง จึงได้นำเชลแลคมาใช้เป็นส่วนผสมถึง 6 ส่วน อุตสาหกรรมเกี่ยวกับวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เนื่องจากเชลแลคไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า จึงมีการนำเอามาใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เช่น หลอดไฟ วงจรไฟฟ้า และใช้ในการผลิตแผ่นไมก้า อุตสาหกรรมยาง ก็มีเชลแลคเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ใช้ทำรองเท้า วัสดุปูพื้น เบาะ อะไหล่รถยนต์ ตลอดจนอุตสาหกรรมอาหาร ก็มีการใช้เชลแลคเป็นสารเคลือบผิวผลไม้ ทำให้เหี่ยวช้าลง และใช้เป็นสารเคลือบลูกอมอีกด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงครั่งสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ โทร 052 - 001152 ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดขอนแก่น โทร 043-009958 สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน