จุฬาฯ เผยความคืบหน้า "วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล" พบอาสาสมัครภูมิขึ้น มีผลข้างเคียงน้อย

ข่าวทั่วไป Friday February 11, 2022 09:28 —ThaiPR.net

จุฬาฯ เผยความคืบหน้า

จากการเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 7 เรื่อง "ความก้าวหน้าวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะรายบุคคล นวัตกรรมแห่งความหวังของสังคมไทย" ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ เพื่อนำเสนอความคืบหน้าล่าสุดของนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งด้วยวัคซีน โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วางยุทธศาสตร์ในการเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมชั้นนำที่มุ่งสร้างสรรค์องค์ความรู้และผลผลิตจากงานวิจัย ตลอดจนสร้างบัณฑิตที่เป็นนวัตกร เป็นผู้นำสร้างสรรค์สังคมไทยในปัจจุบันและอนาคต จุฬาฯ มุ่งส่งเสริมให้ผลงานวิจัยจุฬาฯ เชื่อมโยงกับประชาชนคนไทยและประชาคมโลก เพื่อขับเคลื่อนให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยระดับชาติที่ก้าวสู่ความเป็นนานาชาติอย่างเต็มภาคภูมิ

โครงการแพทย์จุฬาฯ พัฒนางานวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยขนาดใหญ่ของจุฬาฯ เป็นความร่วมมือระหว่างหลายคณะ สถาบัน และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนศตวรรษที่ 2 ของจุฬาฯ ช่วยขับเคลื่อนให้งานวิจัยของจุฬาฯ ก้าวกระโดด หลุดพ้นจากกับดักงานวิจัยที่ตามหลังต่างประเทศ ที่สำคัญคือเป็นงานวิจัยที่นำไปใช้ได้ผลจริง เกิดผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวก งานวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือบริจาคจากประชาชนจำนวนมาก ช่วยลดปัญหาในเชิงสาธารณสุขและสังคมสูงวัยที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยเป็นมะเร็งจำนวนมาก

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุในการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย โดยมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนและถ่ายทอดงานวิจัยมาสู่การทดลองรักษาผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด นำไปสู่การขยายขีดจำกัดในการให้บริการและรองรับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อพัฒนางานวิจัยด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเป็นต้องใช้เงินทุนสูงมาก จึงได้มีโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเพื่อการวิจัยด้านการรักษามะเร็ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและประชาชนอย่างต่อเนื่อง

"มะเร็งถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย จากสถิติมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งไม่ต่ำกว่าแสนรายต่อปี และมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย รักษา โรงมะเร็ง ตลอดจนการดูแลติดตามผลหลังการเป็นโรค สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันและวินิจฉัยให้เร็ว ถ้าพบในระยะแรกๆ มีโอกาสสามารถหายขาดได้"

รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการให้ยารักษามะเร็ง มีแนวทางหลัก 3 วิธี คือ ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาที่ค่าใช้จ่ายไม่สูง มีประสิทธิภาพปานกลาง และอาจมีผลข้างเคียงที่มาก ยามุ่งเป้า เป็นการให้ยารักษาที่จำเพาะต่อการกลายพันธุ์ของมะเร็ง มีประสิทธิภาพจำเพาะเฉพาะในรายที่มีการกลายพันธุ์ตรงกับตัวยา อาการข้างเคียงมักจะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับยาเคมีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งมีทั้งการรักษาแบบการให้ยาแอนติบอดีและการใช้เซลล์บำบัด ทั้งสองแนวทางนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาผู้ป่วย ไม่จำเพาะกับชนิดมะเร็ง ส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงน้อย

ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ได้มีการวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด มุ่งเน้นพัฒนาการรักษาใน 3 วิธีคือ เซลล์บำบัดมะเร็ง วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล และยาแอนติบอดีต้านมะเร็ง (ยาภูมิต้านมะเร็ง) ซึ่งภูมิคุ้มกันบำบัดทั้ง 3 วิธีนี้มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน สามารถใช้รักษาร่วมกัน และใช้ร่วมกับการรักษามะเร็งด้วยวิธีการอื่นๆ ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

"มะเร็งเป็นความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย ปัจจุบันมีการรักษาโดยการผ่าตัด การฉายรังสี และรักษาด้วยยา รวมทั้งมีการวิจัยและพัฒนามุ่งเน้นการรักษาที่เฉพาะเจาะจงไปในรายบุคคลให้มีความแม่นยำมากขึ้น ปัจจุบันการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อยู่ในขั้นตอนการวิจัยในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป้าหมายในอนาคตจะมีการทดสอบในวงกว้างต่อไป"รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าว

อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เผยถึงโครงการพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงขั้นตอนทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัครตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 นับเป็นการทดสอบทางคลินิกครั้งแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การผลิตวัคซีนเฉพาะบุคคลนี้ต้องใช้ข้อมูลการกลายพันธุ์ที่ตรวจพบในผู้ป่วยรายนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อการกลายพันธุ์ของมะเร็ง เนื่องจากมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคนมีการกลายพันธุ์ส่วนใหญ่ที่ต่างกัน การผลิตวัคซีนจึงต้องทำครั้งละ 1 ราย เพื่อให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่จำเพาะและมีประสิทธิภาพไว้ต่อสู้กับโรคมะเร็ง ในการให้วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล เริ่มต้นด้วยการนำชิ้นเนื้อมะเร็งจากผู้ป่วยมาถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อตรวจหาการกลายพันธุ์ที่พบในชิ้นเนื้อมะเร็งเท่านั้น ซึ่งไม่พบในเซลล์ปกติของร่างกาย และนำข้อมูลการกลายพันธุ์มาผลิตเป็นชิ้นส่วนของโปรตีนของมะเร็งที่กลายพันธุ์

ขนาดเล็ก ที่มีเพียงข้อมูลการกลายพันธุ์แต่ไม่สามารถก่อโรคได้ โดยไม่มีการฉีดเซลล์มะเร็งเข้าในร่างกาย แต่อย่างใด หลังฉีดวัคซีน เม็ดเลือดขาวชนิด antigen presenting cells จะกินชิ้นส่วนโปรตีนกลายพันธุ์ที่ผลิตไว้ และกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ให้รู้จักการกลายพันธุ์ของมะเร็งมากขึ้นอย่างจำเพาะ ดังนั้นวัคซีนนี้จึงเป็น"วัคซีนรักษามะเร็ง ไม่ใช่วัคซีนป้องกันมะเร็ง ในต่างประเทศ เช่น ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีการศึกษาพบว่าการใช้วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลร่วมกับการให้ยาแอนติบอดีที่ช่วยเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกัน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้สูงขึ้นได้

"การทำวัคซีนเฉพาะบุคคล ถ้าประเทศไทยสามารถทำเอง จะได้ทั้งราคาที่ถูกลงและมีความเฉพาะบุคคลสูง ทำให้เกิดการเข้าถึงนวัตกรรมวัคซีนนี้ได้มากขึ้น สามารถลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของราคาในปัจจุบัน" อ.นพ.ไตรรักษ์ กล่าว

ระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้ทดสอบวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลกับอาสาสมัครผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 จำนวน 4 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (melanoma) 3 ราย และมะเร็งไต 1 ราย พบว่าการฉีดวัคซีนมีความปลอดภัย พบผลข้างเคียงน้อย เช่น มีอาการปวดตรงจุดที่ฉีดวัคซีน ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง และหลังจากการฉีดวัคซีน 3 สัปดาห์ พบว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยทั้ง 4 ราย ดีขึ้นอย่างชัดเจน และเป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะต่อชิ้นส่วนการกลายพันธุ์ของผู้ป่วยมะเร็งรายนั้น

นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้ตรวจติดตามการตอบสนองทางพยาธิวิทยาในผู้ป่วย 1 ราย โดยประเมินการกระจายตัวของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ในชิ้นเนื้อมะเร็ง พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน โดยก่อนฉีดวัคซีน ตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่บริเวณรอบนอกก้อนมะเร็งเป็นหลัก หลังได้รับวัคซีนพบว่าเม็ดเลือดขาวมีการเปลี่ยนแปลง ตอบสนองในทางบวก มีการกระจายตัวเข้าไปในชิ้นเนื้อมะเร็งมากขึ้น ปัจจุบันผู้ป่วยรายนี้อาการคงที่หลังได้รับการรักษาด้วยวัคซีนมะเร็ง และตรวจติดตามเป็นเวลา 9 เดือน

อ.นพ.ไตรรักษ์ เผยถึงเป้าหมายอีก 4 ปีข้างหน้าว่า หากมีการพิสูจน์ประสิทธิภาพของวัคซีนได้ ทีมวิจัยจะเดินหน้าเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะถัดไป โดยเริ่มเปิดให้บริการในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่องานวิจัยสามารถพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย จะดำเนินการขึ้นทะเบียน ในขณะเดียวกัน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ได้ทำการวิจัยและพัฒนายาแอนติบอดีรักษามะเร็ง (ยาภูมิต้านมะเร็ง) คู่ขนานกันไป ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการผลิตในโรงงาน โดยจะเริ่มการทดสอบในสัตว์ทดสองในปี 2565 และเริ่มการทดสอบทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งในปี 2566 ในต่อไป ซึ่งหากการพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล และยาแอนติบอดีประสบผลสำเร็จ จะสามารถใช้การรักษาทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งให้ดีขึ้น และส่งผลต่อราคาที่ผู้ป่วยสามารเข้าถึงการรักษาได้

ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ดำเนินการสร้างห้องปลอดเชื้อพิเศษเพื่อการผลิตเซลล์และวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลเพิ่มเติมในอาคารบูรณาการวิจัยใหม่ร่วมกับอาคารรักษาพยาบาล ที่เน้นการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างครบวงจร รวมกันเป็น"ศูนย์บูรณาการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย" ซึ่งคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2567


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ