กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ และ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดความรู้และสร้าง CE Coach ที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญในการยกระดับกระบวนการผลิตสู่ความยั่งยืนให้โรงงานทั่วประเทศ
พิธีเปิดได้รับเกียรติจาก นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร "การสร้างที่ปรึกษาการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในโรงงานอุตสาหกรรม (CE Coach)" โดยท่านได้มอบเกียรติบัตรแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานและประกาศนียบัตรแก่ผู้ช่วยวิจัยที่เข้าร่วมโครงการ "มาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน" ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ตั้งแต่เมื่อปี 2564 ทั้งนี้โครงการดังกล่าวดำเนินการร่วมกันระหว่าง กรมโรงงานอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ และ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ ในการจับคู่นักวิจัยมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการธุรกิจระดับ SMEs เพื่อนำร่องสร้างต้นแบบโรงงานในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านพลาสติกและด้านฟอกหนัง
ส่วนงานนี้จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้แก่บุคคลทั่วไป โดยผู้สนใจเข้ารับการอบรมมีทั้งจากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ส่วนวิทยากรประกอบด้วย ดร.ภัสราพร พลับเจริญสุข หัวหน้าโครงการฯ ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) ในฐานะหัวหน้าโครงการย่อยที่ 1 "มาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมพลาสติกระดับ SMEs" และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา ศิรเลิศมุกุล อาจารย์สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการย่อยที่ 2 "มาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมฟอกหนังระดับ SMEs" นอกจากนี้ยังมีวิทยากรผู้เป็นนักวิจัยในเครือข่ายของศูนย์ PETROMAT มาร่วมบรรยายและนำเสนอวีดิทัศน์เยี่ยมชมโรงงานต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนในกระบวนการผลิต การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างแผนธุรกิจด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้การอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวจัดขึ้นเสร็จสิ้นไปแล้วในช่วงระหว่างวันที่ 19 - 25 มกราคม 2565 ณ โรงแรมแมนดาริน แมนเนจ บายเซ็นเตอร์ พ้อยท์ กรุงเทพฯ
สำหรับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นจะมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรรวมทั้งพลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านการจัดการในรูปแบบหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่นการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถซ่อมแซมเมื่อชำรุดเสียหายและนำไปรีไซเคิลได้เมื่อหมดอายุการใช้งาน ทั้งนี้ข้อมูลจากสถาบันพลาสติก พ.ศ. 2562 ระบุว่าประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกประมาณ 560,000 ล้านบาท และมีมูลค่าของอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศมากถึงประมาณ 1,100,000 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 7.2 ของ GDP ของไทย โดยส่วนใหญ่เกิดจากธุรกิจระดับ SMEs ขณะที่ขยะพลาสติกก็กำลังเป็นปัญหาไปทั่วโลก ดังนั้น โครงการนี้จึงตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่ความยั่งยืนทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ โดยในปีที่ผ่านมาได้สร้างต้นแบบโรงงานด้านพลาสติกซึ่งใกล้สำเร็จแล้วจำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง และในปีนี้เป็นการขยายผลของโครงการฯ โดยมีการพัฒนา CE Coach เพื่อให้มีความพร้อมในการเผยแพร่ต่อองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมสามารถปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ตั้งเป้า CE Coach ทั้งหมด 20 คน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการจัดทำแผนธุรกิจร่วมกับโรงงานที่ผ่านการคัดเลือกให้ร่วมโครงการฯ จำนวนอย่างน้อย 150 แห่งในปีถัดไป
โครงการนี้นับเป็นก้าวสำคัญเพื่อนำประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนตามนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของภาครัฐ อันจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องภายในประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปสู่ความยั่งยืน