กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG วิจัยและพัฒนาแมลงเป็นแหล่งโปรตีนเสริมอาหารให้สัตว์ โดยใช้กากมันสำปะหลัง by product จากโรงงานไบโอเอทานอลเป็นวัตถุดิบร่วมในกระบวนการผลิตตามหลักการ Zero Waste ลดการใช้สารปฏิชีวนะในการผลิตสัตว์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมนำความเชี่ยวชาญด้านแมลงร่วมวิจัยระดับนานาชาติกับประเทศสเปน ไนจีเรียและแอฟริกาใต้ ในโครงการแหล่งอาหารจากแมลงเพื่อเสริมการขาดสารอาหารในพื้นที่เปราะปาง โดยสามารถคว้ารางวัล WAITRO Innovation Award 2021 ซึ่งเป็นเวทีประกวดไอเดียนวัตกรรมภายใต้ธีม Food Security and Sustainable Agriculture
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ในอนาคตพื้นที่การผลิตอาหารของโลกมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ความต้องการอาหารมากขึ้น เนื่องจากประชากรโลกมีอายุยืนขึ้น นวัตกรรมด้านอาหารจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งมีหลายหน่วยงานคาดการณ์ถึงเทรนด์อาหารแห่งอนาคตของโลก โดยเฉพาะโปรตีนจากแมลง (Insect-based Protein) และพืช (Plant-based Protein) จะได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากกระบวนการผลิตจะใช้พื้นที่น้อยและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตสัตว์อื่นๆ และปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องคาร์บอนเครดิตเป็นอย่างมาก วว. ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทรนด์อาหารแห่งอนาคตมาเป็นแนวทางดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านอาหาร โดยเฉพาะโพรไบโอติกและแมลงให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมด้านอาหารของไทย มีช่องทางในการนำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
"... วว. มีองค์ความรู้จากการดำเนินโครงการใช้ประโยชน์จากจิ้งหรีดมาเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มโปรตีนจากแมลงและเพิ่มแหล่งอาหารของโลก นอกจากนี้ยังมีศูนย์อนุรักษ์แมลงเขตร้อน ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เป็นแหล่งวิจัยพัฒนาแมลงครบวงจรและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสังคม จากความเชี่ยวชาญนี้ได้นำไปสู่การร่วมวิจัยกับหน่วยงานระดับนานาชาติ ได้แก่ LEITAT ประเทศสเปน FIIRO ประเทศไนจีเรีย และ CSIR ประเทศแอฟริกาใต้ ภายใต้โครงการแหล่งอาหารจากแมลงเพื่อเสริมการขาดสารอาหารในพื้นที่เปราะบาง โดยความสำเร็จเบื้องต้นของ วว. และพันธมิตรทั้ง 3 ประเทศก็คือ สามารถคว้ารางวัล WAITRO Innovation Award 2021 จากโครงการนี้ซึ่งเป็นเวทีประกวดไอเดียนวัตกรรม โดยในระยะเวลาอันใกล้ วว. และพันธมิตรจะร่วมกันประกาศผลสำเร็จของการวิจัยพัฒนา เพื่อความมั่นคงด้านอาหารและการเกษตรอย่างยั่งยืน?" ผู้ว่าการ วว. กล่าว
สำหรับบทบาทความรับผิดชอบในการดำเนินโครงการแหล่งอาหารจากแมลงเพื่อเสริมการขาดสารอาหารในพื้นที่เปราะบางหรือ SMARTinFOOD : Insect-based Food Sources to Supplement Nutrient Deficiencies in Vulnerable Areas ของทั้ง 4 ประเทศ ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวว่า เป็นการวิจัยพัฒนานวัตกรรมอาหารทางเลือกใหม่ ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในข้อ 2 ว่าด้วยการขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยประเทศสเปนทำหน้าที่ส่งเสริมเชิญชวนให้มีการบริโภคแมลงมากขึ้นในทวีปยุโรป ประเทศไทยโดย วว. ทำหน้าที่วิจัยพัฒนาการใช้แมลงเป็นสารเสริมอาหารสัตว์ ประเทศไนจีเรียและแอฟริกาใต้เป็นผู้ใช้ประโยชน์หลัก เนื่องจากเป็นประเทศยากจนและมีปัญหาการขาดแคลนอาหาร
"...การดำเนินงานวิจัยของ วว. ในโครงการแหล่งอาหารจากแมลงเพื่อเสริมการขาดสารอาหารในพื้นที่เปราะบาง ยึดหลักการ Zero Waste โดยจะใช้จิ้งหรีดเป็นตัวกำจัดกากมันสำปะหลัง by product จากโรงงานผลิตไบโอเอทานอล ซึ่งเป็นสารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่าย เมื่อจิ้งหรีดกินเข้าไปจะช่วยให้เจริญเติบโตเร็ว นอกจากนั้นในการดำเนินโครงการยังเป็นการต่อยอดองค์ความรู้เดิมจากงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ในการใช้จิ้งหรีดเป็นแหล่งเสริมอาหารสัตว์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร นับเป็นการส่งเสริมให้ลดการใช้สารปฏิชีวนะในสัตว์ ตลอดจนการลงทุนที่ต่ำกว่าการผลิตสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่น สรุปได้ว่าการใช้แมลงเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกนั้นเป็นมิตรทั้งสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค ตอบโจทย์นโยบายเศรษฐกิจ BCG และสร้างนวัตกรรมใหม่อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ วว. จะต่อยอดบูรณาการโครงการวิจัยนี้ใน Road map การดำเนินงานวิจัยพัฒนาขององค์กรต่อไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ?" ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุปรายละเอียดการวิจัยของ วว. ในโครงการฯ
อนึ่ง ศูนย์อนุรักษ์แมลงเขตร้อน วว. ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านแมลง ซึ่งจะเป็นองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศที่สำคัญ ในการต่อยอดงานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม อาทิ โครงการพัฒนาชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืชใต้ดินและเสริมความแข็งแรงต้นพืชที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการศึกษานิเวศวิทยาการผสมเกสรเพื่อการเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตของกาแฟอาราบิก้า โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสาร Allelochemicals ที่ได้จากผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลเพื่อการประยุกต์ใช้ด้านการจัดการแมลงศัตรูพืชเพื่อการเกษตรแบบยั่งยืน โครงการศึกษากลไกการป้องกันตนเองและบทบาทในการควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล, Nilaparvata lugens (St?l) ในข้าวหอมมะลิ 105 โครงการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงชันโรงในเขตวนเกษตรที่สูงเพื่อผลผลิตเชิงหน้าที่ โครงการวิจัยวิธีการเลี้ยงจิ้งหรีดที่ถูกสุขลักษณะ โครงการศึกษาการสะสมของโลหะหนักในจิ้งหรีด และโครงการวิจัยสายพันธุ์จิ้งหรีดทองดำ, Gryllus bimaculatus ต้านทานปัจจัยชีวภาพและการพัฒนาระบบจัดการหลีกเลี่ยงการเกิดเลือดชิดในฟาร์มเพาะเลี้ยง เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์ tistr.or.th อีเมล tistr@tistr.or.th Line@TISTR