iHub จุฬาฯ เร่งสร้างสตาร์ทอัพพันธุ์ใหม่ เคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่สากล

ข่าวทั่วไป Thursday February 17, 2022 10:08 —ThaiPR.net

iHub จุฬาฯ เร่งสร้างสตาร์ทอัพพันธุ์ใหม่ เคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่สากล

จุฬาฯ ชู CU iHub ผลิตบัณฑิตคุณภาพ สตาร์ทอัพพันธุ์ใหม่ ร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 ประเทศเทคโนโลยีอุตสาหกรรมใหม่ด้วยนวัตกรรม สำเร็จแล้วด้วยสินค้านวัตกรรมมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท

ปัจจุบัน แนวโน้มการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก (Global trend) ยังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรม ดังเห็นได้จาก ความต่อเนื่องในการผลักดันนโยบายของหลายประเทศ เช่น นโยบาย Made in China 2025 ของจีน อเมริกาก็ไม่แพ้กันด้วยนโยบาย Manufacturing USA ส่วนญี่ปุ่นก็ประกาศ Society 5.0 เกาหลีใต้ใช้แนวทาง I-Korea 4.0 มาเลเซียเน้น Industry 4WRD และประเทศไทยก็ยังชูนโยบาย Thailand 4.0 และการขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ภายในปี ค.ศ. 2036 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะต้องปรับตัวและพลิกโฉมจากประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ (Efficiency-driven) มาเป็นการขับเคลื่อนบนฐานนวัตกรรม (Innovation-driven)

ทั้งนี้ การพัฒนานวัตกรรมจำต้องอาศัยฐานทรัพยากรบุคคล หรือ "นวัตกร" ผู้คิดค้นงานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีแก่โลก หลายประเทศดังกล่าวจึงพยายามสร้างพื้นที่ในการบ่มเพาะนวัตกรและสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ เพื่อดึงดูดบัณฑิตคุณภาพสูง (top talent) จากหลายประเทศให้ไปร่วมงานในประเทศของตัว

สำหรับประเทศไทย แม้จะชูนโยบาย Thailand 4.0 มาตั้งแต่ปี 2560 แต่แรงงานคุณภาพสูงในประเทศก็ยังมีจำกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงตั้งศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Innovation Hub เรียกย่อ ๆ ว่า iHub เพื่อเร่งสร้างบัณฑิตคุณภาพ ตอบสนองทิศทางของประเทศในอนาคต

iHub จุฬาฯ ภารกิจสร้างสตาร์ทอัพพันธุ์ใหม่
ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ iHub ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2560 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เพื่อเปลี่ยนสังคมไทยสู่วิถีใหม่ในการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์ ผลิตบัณฑิตคุณภาพระดับ Top talent เพื่อเป็นผู้นำแห่งอนาคต ผู้มองเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ผ่านการใช้เทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา และกล้าที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเดิม ท้าทายวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ "ประเทศไทยจะไม่สามารถบรรลุ เป้าหมายความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป้าหมาย Thailand 4.0 ที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ปี 2560 หากขาดทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ดังนั้น ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทสร้างองค์ความรู้ และต่อยอดงานวิจัยสู่นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม iHub จุฬาฯ จึงพยายามสร้าง "คน" ให้มีทักษะผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 ที่คิดเป็น ทำเป็น ด้วยแนวคิดของผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพ ใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์นวัตกรรม จนทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมแบบเดิม ๆ ช่วยแก้ปัญหาประเทศด้วยวิธีที่ต่างไปจากเดิม และมีความยั่งยืน" ดร.ศันธยา กิตติโกวิท ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านนวัตกรรมและผู้อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ (CU Innovation Hub) กล่าว

นอกจากสร้างสตาร์อัพพันธุ์ใหม่แล้ว ดร.ศันธยา กล่าวว่า iHub จุฬาฯ ยังสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรม การจดสิทธิบัตร การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา และผลักดันนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม สร้างเม็ดเงินและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย โดยปีล่าสุด 2564 สตาร์ทอัพจุฬาฯ ภายใต้การดูแลของ iHub เติบโตและมีจำนวนทีมสตาร์ทอัพราว 300 ทีม และมีผลงานนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่สร้างมูลค่าทางการตลาด (Market valuation) ถึง 16,754 ล้านบาท!

iHub จุฬาฯ One Stop Service for Startup
ดร.ศันธยา กล่าวว่าจุดเด่นของ CU iHub คือ ระบบนิเวศที่ส่งเสริมสตาร์ทอัพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แบบ One Stop Service for startup โดยดูแลตั้งแต่เรื่อง การอบรมบ่มเพาะ ให้ความรู้ทางด้านธุรกิจที่ทันสมัยตั้งแต่การแสวงหาไอเดีย จับคู่นักวิจัย ไปจนถึงการระดมทุน การช่วยหาแหล่งเงินทุน บริษัทร่วมทุน ให้คำปรึกษา การ Mentoring มีพื้นที่ให้ใช้ในการทำงาน บริการจดจัดตั้งบริษัท เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาคธุรกิจและเอกชนสำหรับเหล่าสตาร์ทอัพที่พร้อม Spin off เป็นบริษัท ปัจจุบัน นักวิจัยได้รวมตัว จัดตั้งชมรมสปินออฟ (Chula Spin off Club) เพื่อให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล พูดคุย แชร์ประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยที่ต้องการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ ในระบบนิเวศนี้มีการจัดตั้งบริษัท CU Enterprise ซึ่งเป็น โฮลดิ้งคอมพานีของมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยระดมทุนและลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาฯ (Chulalongkorn University Intellectual Property Institute: CUIP) เพื่อดูแล ด้านสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรงอีกด้วย

"iHub เริ่มดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ เมื่อนักวิจัยมีความคิดอยากทำนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ก็เข้ามาพูดคุยกับเราถึงโอกาส เทคโนโลยีที่มี แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคและตลาด เข้ารับการบ่มเพาะตามระดับความพร้อม ซึ่งเราแบ่งระดับความพร้อมออกเป็น 7 ระดับ ตั้งแต่ มีแต่ความอยากแต่ยังไม่มีไอเดีย ไปสู่การพัฒนาต้นแบบ ออกสู่ตลาด เติบโต จนถึงการระดมทุนระดับซีรีส์ A แต่ละระดับก็จะได้รับการอบรมบ่มเพาะแตกต่างกันไปตามความพร้อม แต่ถ้าหาก นักวิจัยยังไม่มีความพร้อมแต่งานวิจัยหรือเทคโนโลยีนั้นมีความน่าสนใจ ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม - Chulalongkorn University Technology Center (UTC) จะเข้ามาดูแลต่อในช่วงกลางน้ำเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และสุดท้าย ปลายน้ำ เมื่องานวิจัยนั้น ๆ พัฒนาจนสมบูรณ์พร้อมออกสู่ตลาด และนักวิจัยพร้อมที่จะตั้งบริษัท UTC ก็จะส่งต่อให้ iHub เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดตั้งบริษัท หรือ Spin off ต่อไป" ดร.ศันธยา อธิบายการดูแลสตาร์ทอัพจากเริ่มต้นจนปลายทางความสำเร็จ

ดร.ศันธยากล่าวเสริมอีกว่าแม้ iHub จะเน้นการตั้งบริษัทนวัตกรรม (Spin off) มากกว่าการการขายลิขสิทธิ์ผลงาน หรือการทำความร่วมมือกับบริษัทอื่น ๆ (Partner) แต่หากสตาร์ทอัพใดไม่พร้อมจะตั้งบริษัท ทาง iHub และ UTC ก็ช่วยหาทางเลือกอื่น ๆ ให้ เช่น นำสินค้านวัตกรรมมาฝากจำหน่ายที่บริษัทนวัตกรรมจามจุรี หรือ ขายลิขสิทธิ์ผลงานนวัตกรรม หรือหาหุ้นส่วนทางธุรกิจให้ เป็นต้น

วงจรเรียนรู้และพัฒนานวัตกรรมอย่างไม่สิ้นสุด
การสร้างสตาร์ทอัพไม่เป็นเพียงการสร้างมูลค่างานความรู้และวิจัยสู่ตลาดและสังคม แต่ยังสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่วนกลับมาต่อยอดการเรียนรู้ให้นิสิตและนักวิจัยจุฬาฯ อย่างไม่รู้จบ ซึ่งที่ผ่านมา หลายคณะในจุฬาฯ ก็ได้ปรับกระบวนการเรียนการสอนแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับวงจรการเรียนรู้และพัฒนาแบบ Integrated innovation enterprise research and education model เพื่อการเป็น Research university ที่ตอบโจทย์คุณค่าของมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง

"การสร้างสตาร์ทอัพให้แข็งแกร่งจนก่อตั้งบริษัทนั้น ถือเป็น "โอกาสทอง" ของอาจารย์นักวิจัย หรือแม้กระทั่งนิสิตที่ผันตัวมาเป็นสตาร์ทอัพ พวกเขาจะได้เห็นโจทย์ปัญหาจริงของสังคม เห็นความต้องการของผู้บริโภคแล้วเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์กลับมาเป็นการสร้างนวัตกรรมที่ต้องผ่านการทำวิจัยซ้ำ หาคำตอบซ้ำไปมา จนได้องค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งประสบการณ์ตรงนี้สามารถนำมาสอนในห้องเรียนได้ เกิดการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพระดับ Tier 1 เกิดรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา และรายได้นั้นสามารถผันกลับมาช่วยสนับสนุนงานวิจัยอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย เราเชื่อว่า ยิ่งมหาวิทยาลัยสร้างนวัตกรรม ก็ยิ่งเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาบัณฑิตและผู้นำที่มีคุณภาพ สร้าง Top talent ให้ประเทศ" ดร.ศันธยา กล่าว

หลากหลายผลงานสตาร์ทอัพ ความภูมิใจของ iHub จุฬา
ทีมสตาร์ทอัพในความดูแลของ iHub สร้างสรรค์นวัตกรรมที่โดดเด่น เน้นรับใช้สังคมใน 5 ด้านสำคัญ ๆ กล่าวคือ ด้านสุขภาพและผู้สูงวัย (Health / Aging) การศึกษา (Education) เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว อาหารและเกษตร (Bio-Circular Green Food & Agricultural) สังคมยั่งยืน (Sustainable Society) และเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech Supercluster) หลายผลงานสตาร์ทอัพ จุฬาฯ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น วัคซีนโควิด-19 จากใบยา โดยบริษัท Baiya Phytopharm Co., Ltd.หรือ แอปพลิเคชัน ViaBus ที่ช่วยอำนวยความสะดวกกับผู้เดินทางด้วยรถสาธารณะ และยังมีอีกหลายตัวอย่าง ดังนี้

NOบริษัทผลิตภัณฑ์สังกัดหน่วยงาน
1Baiya Phytopharm Co., Ltd.
https://baiyaphytopharm.com/
วัคซีนโควิด-19 จากใบยา (Baiya vaccine) โดยใช้เทคโนโลยี BaiyaPharming(TM) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตโมเลกุลโปรตีนโดยใช้พืช Baiya Plant EGF สารสกัด anti-aging ช่วยลดเลือนริ้วรอยประสิทธิภาพสูง จากการสร้างคอลลาเจนและกระตุ้นการสร้างเซลล์คณะเภสัชศาสตร์
2Mineed Technology Co., Ltd.
https://mineed.tech/
เทคโนโลยี นำส่งสารออกฤทธิ์ในปริมาณแม่นยำเข้าสู่ผิวหนัง โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผิวหนัง ใช้ระยะเวลาเพียง 2 นาที เหมาะสำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง วัคซีนคณะวิทยาศาสตร์
3Prime Nanotechnology Co., Ltd.
https://www.prime-nano.com/
ซิลเวอร์นาโนคอมโพสิตสูตรน้ำสำหรับพ่นเคลือบกันเชื้อโรคคณะวิทยาศาสตร์
4ViaBus
https://www.viabus.co/
แอปพลิเคชันติดตามและนำทางระบบขนส่งประจำทางแบบเรียลไทม์รายแรกของไทยที่เชื่อมโยงทุกระบบคมนาคมเข้าไว้ด้วยกันในแอปฯ เดียว ทั้งรถเมล์ รถสองแถว รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟ เรือด่วน เรือข้ามฟาก และรถตู้ระหว่างจังหวัด โดยมีบริการครอบคลุมกว่า 70 จังหวัด ผู้ใช้งาน ViaBus จะรู้ตำแหน่งและหมายเลขรถโดยสารประจำทาง ป้ายประจำทางที่ใกล้ที่สุด ค้นหาเส้นทางการเดินทางที่เร็วที่สุด และช่วยนำทางคนไทยและคนต่างชาติที่ต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะไทยคณะวิศวกรรมศาสตร์
5Bio Om Co., Ltd.
https://www.bio-om.com/
จุลินทรีย์ "คึกคัก" นวัตกรรม "จุลินทรีย์"ล้างพิษสะสมตกค้างในดิน เอนไซม์ล้างสารพิษสำหรับพืชผลการเกษตร เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคคณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย
6Thandee innofood Co., Ltd.
https://www.facebook.com/tannd.th/
เส้นโปรตีนจากไข่ขาว (Tann:D) พลังงานต่ำ ไร้แป้งและกลูเตน ในรูปแบบเส้นหมี่ เส้นราเมน แบรนด์ Eggyday แบบพร้อมรับประทาน สามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิห้องยาวนานถึง 18 เดือนคณะสหเวชศาสตร์
7myCourseVille Co., Ltd.
https://www.mycourseville.com/web/
myCourseVille - Online learning platform ระบบสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์โดยใช้โซเซียลเน็ตเวิร์คมาเชื่อมต่อผู้สอนกับผู้เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์
8Nabsolute Co., Ltd.
https://www.nabsolute.co.th/
Shield และ Shield+ protecting spray นวัตกรรมสเปรย์สำหรับพ่นหน้ากากผ้าที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่น อนุภาคขนาดเล็ก น้ำและละอองฝอยจากการไอหรือจาม บริการทดสอบการทะลุผ่านของไวรัส (Viral Penetration Testing) บริการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารตั้งต้น และผลิตภัณฑ์ (Cell-based Testing)คณะเภสัชศาสตร์
9Bio ink Co., Ltd.
https://www.cuvscbic.com/
ผลิตภัณฑ์และบริการด้านเซลล์บำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด พัฒนาโมเลกุลยา สารออกฤทธิ์ และสารพฤกษเคมี แบบสั่งผลิตพิเศษ (Custom-made) ในผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา เครื่องสำอาง อาหารและอาหารเสริมคณะสัตวแพทยศาสตร์
10Cute Enterprise Co., Ltd.
https://cureenterprise.co.th/
Cure Air Sure หน้ากากกรองอนุภาคและเชื้อโรค 99% ออกแบบสำหรับรูปหน้าคนเอเชีย CURE AIR Filter แผ่นกรองอากาศ ประสิทธิภาพการกรองอานุภาค 99% กรองแบคทีเรีย 99.9% เทียบเท่า N95 เมื่อใช้คู่กับ Cure Air Sureคณะวิศวกรรมศาสตร์

จุฬาฯ ยังมีสตาร์ทอัพอีกกว่า 50 ทีม ที่มีผลงานออกสู่สังคมในเชิงพาณิชย์ ซึ่งสามารถอ่านข้อมูลความสำเร็จบริษัท Spin off เพิ่มเติมได้ในรายงาน CU Innovation Hub Report 2018 - 2021 : ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ และบริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพร์ส จำกัด (หน้า 13 - 17) ได้ที่ https://shorturl.asia/pmdgA

"ทุกวันนี้ผลงานนวัตกรรมของสตาร์ทอัพจุฬาฯ ได้ออกสู่ตลาดเรื่อย ๆ ต้องขอบคุณศิษย์เก่าจุฬาฯ ภาครัฐและเอกชน ประชาชนทั่วไป ที่ช่วยสนับสนุนเรา และเรายังต้องการการสนับสนุนเช่นนี้จากทุกท่าน โดยเฉพาะศิษย์เก่าจุฬาฯ ทั้งกำลังใจ ความรู้ ประสบการณ์ เครือข่าย และทุนพัฒนานวัตกรรมแก่ทีมจุฬาฯ" ดร.ศันธยา กล่าว

Startup กับ iHub เริ่มต้นอย่างไร : How to Startup
IHub จุฬาฯ จัดอบรมสตาร์ทอัพ เป็นประจำ โดยผู้สนใจจะได้เรียนรู้กระบวนการสร้างธุรกิจและนวัตกรรม และเสนอแนวคิดสร้างสรรค์ทางนวัตกรรมที่สนใจ ซึ่งงานวิจัยนวัตกรรมที่ iHub ถนัดและให้การสนับสนุนแบ่งเป็น 5 ด้าน คือ

  • สุขภาพ และผู้สูงวัย (Health / Aging)
  • การศึกษา (Education)
  • (Bio-Circular Green Food & Agricultural) เพื่ออุตสาหกรรมทางด้านพลังงานและวัสดุ สุขภาพและการแพทย์ ท่องเที่ยวและบริการ
  • สังคมยั่งยืน (Sustainable Society)
  • เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech Supercluster)
    ทั้งนี้ หากผู้สนใจมีไอเดียทำสตาร์ทอัพอื่น ๆ นอกเหนือจาก 5 ด้านที่กล่าวมานั้น ก็สามารถเข้ามาที่ iHub เพื่อแลกเปลี่ยนแนวความคิดได้
  • "นิสิต นักศึกษา อาจารย์ หรือประชาชนทั่วไป ถ้ามีไอเดียดี ๆ อยากลองทำสตาร์ทอัพ สร้างนวัตกรรมที่ประโยชน์กับสังคม ก็เดินเข้ามาคุยไอเดียกันได้ที่ iHub ไอเดียของคุณอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอนาคตได้" ดร.ศันธยา กล่าวเชิญชวน

    ผู้สนใจอบรมเป็นสตาร์ทอัพกับ iHub และ/ หรือ องค์กรเอกชนที่ต้องการสนับสนุนต่อยอดผลงานของสตาร์ทอัพจากรั้วจุฬาฯ สามารถติดต่อ ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ตั้งอยู่ที่ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) ชั้น 19 ซอยจุฬาฯ 12 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โทร.0-2218-3106 อีเมล cu.innovation.hub@gmail.com เยี่ยมชมเว็บไซต์ https://cuinnovationhub.com


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ