อิเกีย สานต่อวิสัยทัศน์ "สรรค์สร้างชีวิตที่ดีกว่าให้กับคนทั่วไปในทุก ๆ วัน" ให้กับผู้คนกว่า 480 ล้านคนในประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม* ฟิลิปปินส์ และเม็กซิโก แม้ในช่วงเวลาที่ท้าทายเป็นอย่างมากจากการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องปิดสโตร์นานถึง 83 วันในปี 2564 ในขณะเดียวกัน ยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตการขนส่ง รวมถึงการขาดซัพพลายที่ก่อให้เกิดข้อจำกัดต่างๆ ในธุรกิจค้าปลีก แต่อิเกียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโกยังสามารถสร้างความสำเร็จได้จากการปรับตัวไปสู่ธุรกิจใหม่ พัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างก้าวกระโดด สร้างรายได้เพิ่มขึ้นในปีการเงินที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทมีทิศทางที่ดีขึ้น เริ่มปรับฟื้นจากผลกระทบของโควิด
คริสเตียน รอยเคียร์ (Christian Rojkjaer) CEO ของ อิคาโน่ รีเทล กล่าวว่า "2 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าโควิด-19 ไม่ได้เป็นภาวะวิกฤต แต่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง อิเกีย จึงต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน อาทิ ในระหว่างที่สโตร์ปิด พนักงานของเราทั้ง 4,321 คน ไม่ว่าจะทำตำแหน่งอะไร ต่างต้องมาช่วยกันแพ็คสินค้า เพื่อให้สามารถจัดส่งสินค้าได้เร็วที่สุด ทั้งยังเกิดวิกฤตการขนส่งทั่วโลก ทำให้อิเกียมีสต็อกสินค้าน้อยเป็นประวัติการณ์ เราจึงได้ปรับระบบโลจิสติกส์เพื่อติดตามปัญหาและตอบข้อซักถามต่างๆ ของลูกค้า เรายังอยู่เคียงข้างผู้เช่าพื้นที่และสร้างความมั่นใจว่าศูนย์การค้าของเรายังคงปลอดภัยเมื่อสามารถเปิดให้บริการได้อีกครั้ง มีการออกโปรแกรมใหม่เพื่อดูแลเพื่อนร่วมงานและชุมชนของเรา พร้อมทั้งเดินหน้าไปสู่เป้าหมายใหม่ด้านความยั่งยืน ถึงแม้ปีที่ผ่านมาจะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่อิเกีย ก็ยังสามารถสร้างรายได้ให้เติบโตขึ้นในปีการเงินระหว่างกันยายน 2020 - สิงหาคม 2021 และยังคงมุ่งมั่นนำเสนอโซลูชั่นที่ได้ช่วยให้ลูกค้าใช้ชีวิตที่บ้าน (และที่ทำงาน) ได้ดียิ่งขึ้น"
เติบโตท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย
อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก มีรายได้เพิ่มขึ้น 3.3% ในปีที่ท้าทายเป็นที่สุด โดยมียอดขาย 736 ล้านยูโร (ประมาณ 27.7 พันล้านบาท) สำหรับรายได้ในประเทศไทยนั้นแตะระดับ 212 ล้านยูโร (7.97 พันล้านบาท) ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า แต่ยังถือเป็นผลประกอบการที่แข็งแกร่งเมื่อพิจารณาถึงการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดเป็นวงกว้างในปีที่ผ่านมา
ในภาพรวม ธุรกิจที่มาเลเซียหดตัวลงอย่างมาก ลดลง 13.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสโตร์และศูนย์การค้าต่างๆ ปิดทำการนานถึง 83 วัน สำหรับตลาดสิงคโปร์ มีอัตราการเติบโตแข็งแกร่งที่ 21.2% การเปิดสโตร์ใหม่สองแห่งที่เม็กซิโก การเปิดตัวของอิเกียขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ฟิลิปปินส์ รวมถึงการเน้นธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้รายได้รวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีต่อปี ทางด้านยอดการเข้าชมเว็บไซต์ของอิเกียก็เกินกว่า 100 ล้านเป็นครั้งแรก แอป IKEA ใหม่ที่ช่วยให้ลูกค้าช็อปสะดวกมากขึ้น ก็มียอดคำสั่งซื้อถึง 864,000 รายการ คิดเป็นยอดขายรวม 135 ล้านยูโร (5.07 พันล้านบาท) บนช่องทางอีคอมเมิร์ซ
ยอดสมาชิกใหม่ IKEA Family เพิ่มขึ้น 400,000 รายจากทั้งห้าตลาด (กว่าครึ่งมาจากฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดใหม่ล่าสุด) เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันรอบด้าน ทั้งสุขภาพ ครอบครัว และบ้านที่อยู่อาศัย จึงมองหาโซลูชั่นห้องครัว ห้องนอน และพื้นที่ทำงานในราคาที่เอื้อมถึงได้ ช่วยให้การใช้ชีวิตที่บ้านมีความสะดวกสบายและตอบโจทย์การใช้สอยมากขึ้น สำหรับสินค้าในกลุ่ม Workspaces ของอิเกีย ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากถึง 19% ตอบรับการทำงานจากที่บ้านเพื่อหยุดการแพร่ระบาด
เน้นโซลูชั่นที่ยั่งยืน
อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก จะก้าวไปไกลกว่าการเป็นผู้นำด้านเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน โดยจะเป็นกิจการค้าปลีกที่ครอบคลุมทุกช่องทางอย่างแท้จริง เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและการทำงานของผู้คนที่บ้าน อิเกียได้เปิดตัวบริการใหม่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า เริ่มจากการเปิด Planning Studio เพื่อช่วยผู้บริโภคสร้างบ้านในฝันให้เป็นจริง การปรับโฉมใหม่ของ IKEA for Business เพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจขนาดเล็กได้ครอบคลุมมากขึ้น และ IKEA Food ที่ให้บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน หรือคลิกสั่งเพื่อมารับเองที่สโตร์ก็ได้
กลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัทได้รับการยกระดับจากข้อมูลที่ได้จากผู้นำในทุกตลาด มีการวางเป้าหมายที่ชี้วัดได้ และมุ่งมั่นที่จะทำให้แผนธุรกิจนำไปปฏิบัติได้จริงในทุกสโตร์และศูนย์การค้าต่างๆ โดยได้เปิดเผยประเด็นหลัก 3 ด้านที่มุ่งเน้นเพื่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด ได้แก่ 1. การใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีและยั่งยืน 2. การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 3. ความยุติธรรมและทั่วถึง ซึ่งจะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ ก่อให้เกิดการแบ่งปันแนวคิดใหม่ๆ ในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน และการเป็นแบบอย่างที่ดีในแง่ความหลากหลายและไม่แบ่งแยก