เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษาในประเทศไทย เชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึงครู อาจารย์ หรือนักวิชาการด้านการ ศึกษาที่มีส่วนผลักดันทำให้นักเรียนได้รับความรู้ในวิชา หรือโครงการด้านการศึกษาต่างๆ ที่มีประโยชน์ จนสามารถนำไปใช้จนประสบความสำเร็จ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ดร.รัตนา แซ่เล้า ผู้ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ด้านการศึกษา ประจำปี 2549, ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Unite Thailand ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่มาจากทุกสาขาอาชีพ ที่มีความเชื่อในเรื่องการใช้โอกาสเข้าถึงการสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเยาวชนผ่านงานศิลปะ และหัวหน้าโครงการฯ จัดทำ www.thailandlearning.org ของมูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้บนโลกออนไลน์ให้กับเยาวชนไทย
ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย เล่าให้เราฟังว่า "ในชีวิตได้รับโอกาสมามากมาย เริ่มต้นมาจากคุณพ่อ กวงเม้ง แซ่เล้า ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจชิปปิ้ง บริษัท OCB 1992 จำกัด และคุณแม่ ปิติอร แซ่เล้า ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนให้กำลังใจมาโดยตลอด ไม่ห้ามว่าอยากทำหรือเรียนอะไร อาทิ เรียนภาษาอังกฤษ หรือดนตรีไทย จึงมีโอกาสเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออก และกล้าไม่เห็นด้วย พอมาเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดม ศึกษาพัฒนาการ ก็สอบได้ทุน United World College (UWC) ไปศึกษาต่อที่ Lester B.Pearson College United World College of the Pacific ประเทศแคนาดา 2 ปี จากนั้นก็กลับมาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่โครงการอังกฤษอเมริกันศึกษา คณะศิลปศาสตร์ (นานาชาติ) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 ต่อมาได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ด้านการศึกษา ประจำปี 2549 ไปเรียนต่อปริญญาโทเอก ประกอบด้วยปริญญาโทใบแรก ด้านนโยบายการพัฒนาจาก London School of Economic and Political Sciences และปริญญาโทใบที่ 2 เกี่ยวกับการวิจัยสังคมและการศึกษาจาก Institute of Education, University of London ประเทศอังกฤษ ส่วนปริญญาเอก เป็นปริญญาด้านการศึกษาเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย Teachers College Columbia University.NYC ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในระหว่างที่เรียนอยู่ต่างประเทศได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเพื่อนๆ เป็นโครงการนำสีไปให้กับเด็กใน 20 ประเทศทั่วโลกเพื่อวาดรูป ภายใต้หัวข้ออะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต จึงทำให้เห็นความสำคัญของเรื่องโอกาสทางการศึกษา และเมื่อกลับมาประเทศไทยในปีพ.ศ. 2554 จึงได้ก่อตั้งกลุ่ม Unite Thailand ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่มาจากทุกสาขาอาชีพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนสร้างการ ศึกษาที่มีคุณภาพ ผ่านเสรีภาพทางการแสดงออก เช่น การใช้ศิลปะหรือการพูด เป็นการสร้างพื้นที่สร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กับทุกคน โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เปิดกว้าง ประกอบด้วยเยาวชนตั้งแต่ระดับอนุบาล - ม.6 รวมถึงคนในชุมชน ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาทางกลุ่มฯ ได้มีการจัดทำโครงการค่ายศิลปะให้เยาวชนในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย อาทิ กรุงเทพมหานคร, เลย, ลำพูน, กาญจนบุรี, ลพบุรี, ชลบุรี ฯลฯ รวมแล้วกว่า 26 ครั้ง
สำหรับเส้นทางการทำงานนั้น ได้เริ่มต้นจากการเป็นนักวิจัยด้านการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง พร้อมกับเขียนหนังสือชื่อ A Critical Study of Thailand's Higher Education Reforms: The Culture of Borrowing ซึ่งได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศอังกฤษอย่าง Routledge หลังจากนั้นได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำวิชาการเมืองไทย และวิชาสังคม,เศรษฐกิจการพัฒนาไทย ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และหัวหน้าโครงการไทยศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และล่าสุดคือเป็นหัวหน้าโครงการฯ จัดทำเว็บพอร์ทัลการเรียนรู้บนโลกออนไลน์ ภายใต้ชื่อ www.thailandlearning.org ซึ่งเป็นความร่วมมือของมูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย กับสถานทูตออสเตรเลีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้บนโลกออนไลน์ให้เยาวชนไทย ซึ่งภายในเว็บไซต์ได้รวบรวมเนื้อหาที่หลากหลายจากทั่วโลก มีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ครอบคลุมทุกวิชาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ สามารถใช้บริการได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ภายในแบ่งเป็น 3 เมนู คือ 1)เรียนรู้ จะรวบรวมข้อมูลเว็บไซต์เกี่ยวกับการศึกษาไทยและต่างประเทศ แยกตามสาขาวิชา 2)ทัศนศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้จากทั่วโลกผ่านหน้าจอ หรือ Virtual tour ที่สามารถให้ความรู้นักเรียนได้มากกว่าในตำรา และ 3)เครื่องมือ เป็นการแนะนำเครื่องมือสำหรับสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ ที่เหมาะสำหรับนักเรียน ครู และผู้ปกครอง"
ดร.รัตนา แซ่เล้า ได้กล่าวปิดท้ายว่า "อยากให้เด็กทุกคนมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น เพราะการศึกษาคือพื้นที่ของความต้องการโอกาสที่จะฝัน คือพื้นที่ของความเท่าเทียม ที่สำคัญคือการพัฒนาทักษะที่จำเป็น ได้แก่ การฟังพูด อ่าน เขียน ทำให้เด็กคนหนึ่งหรือคนคนหนึ่งสามารถสื่อความคิดความฝันของตัวเองได้ ทำความฝันของตัวเองให้เป็นความจริงได้ และอย่างน้อยที่สุด การศึกษาก็ทำให้ผู้ศึกษากล้าที่จะฝันถึงวันพรุ่งนี้"