แม้ COVID-19 จะทำให้รูปแบบของการเริ่มต้นชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยเปลี่ยนสู่โลกออนไลน์ รุ่นพี่-รุ่นน้องไม่ได้เจอหน้ากันในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างเคย แต่รุ่นน้องก็สามารถเรียนรู้และเดินตามรอยแห่งความสำเร็จของศิษย์เก่ารุ่นพี่ที่ทำไว้เพื่อเป็นต้นแบบแห่งความเพียรพยายามในการทำคุณประโยชน์ต่อสังคมจนเป็นที่ประจักษ์
ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดร.พิพัฒน์ ผิวงาม ศิษย์เก่าหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจุลชีววิทยาการแพทย์(หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ซึ่งมี ศาสตราจารย์ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน อาจารย์ประจำหลักสูตรฯและหัวหน้าโครงการวิจัยการศึกษาอุบัติการณ์เชื้อดื้อยาเครือข่ายมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (Research University Network - RUN) คลัสเตอร์สุขภาพ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจที่เป็นผลผลิตคุณภาพจากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ไปทำวิจัยต่อยอดร่วมกับคู่ความร่วมมือ Dr.Michael Otto ณ สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Institutes of Health, USA) ต่อมาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลก "Nature" และ "International Journal of Antimicrobial Agents" และคว้ารางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก ประจำปีงบประมาณ2563 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ซึ่งจากผลงานวิทยานิพนธ์ของ ดร.พิพัฒน์ ผิวงาม พบว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทยที่มีสุขภาพดี มีเชื้อดื้อยาอาศัยอยู่ หรือเป็นพาหะในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก และอาจส่งผลให้ง่ายต่อการแพร่กระจายเชื้อยา หรือติดเชื้อดื้อยาที่มีอยู่ในตนเอง เมื่อร่างกายต้องตกอยู่ในภาวะที่มีภูมิคุ้มกันต่ำลง และในการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมได้ค้นพบว่า มีแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่งได้ ซึ่งมีโอกาสพัฒนาต่อไปเป็น "โพรไบโอติกส์" (Probiotics) เพื่อเป็นอาหารเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ต่อไปในอนาคต
ด้านแวดวงอุตสาหกรรมวัสดุศาสตร์ระดับโลกก็กำลังเป็นที่ฮือฮา เมื่อ "เพอรอฟสไกต์" สารกึ่งตัวนำที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ไวต่อแสง ได้ถูกค้นพบและมีการนำไปแปรรูปโดยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย อาทิ ในเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ จากผลงานวิทยานิพนธ์ของ "กุสุมา ปิ่นสุวรรณ์" ศิษย์เก่าหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรฯ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย และอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้คว้ารางวัลผลงานวิจัยระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2565 จาก วช. โดยผู้วิจัยได้ค้นพบวิธีการพัฒนาฟิล์มเพอรอฟสไกต์ด้วยปัจจัยที่เหมาะสมในระบบสุญญากาศ ทำให้ได้ฟิล์มที่มีคุณภาพสูง แข็งแรงและทนต่อความชื้น ซึ่งส่งผลดีเมื่อนำไปต่อยอดใช้กับแอปพลิเคชันต่างๆ ทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากรของโลกได้อย่างมหาศาลโดยเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับการการันตีคุณภาพจากการได้รับการตีพิมพ์ และอ้างอิงอย่างแพร่หลายใน "Journal of Materials Science" ซึ่งเป็นวารสารวิชาการระดับโลกเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้รับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 16044 "กรรมวิธีการผลิตแผ่นฟิล์มบางเพอรอฟสไกต์ภายใต้ระบบสุญญากาศ" จาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา อีกด้วย
ทางด้านสังคมศาสตร์ก็สามารถทำได้โดดเด่นไม่แพ้กัน ด้วยผลงานวิจัยของ "สุมนมาลย์ สิงหะ" ศิษย์เก่าหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษาสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยผู้สวมหมวก 2 ใบ หมวกใบที่หนึ่ง เป็นนักวิจัยที่มีประสบการณ์ใช้แนวคิดและวิธีการเชิง "ชาติพันธุ์วรรณา" เพื่อรวมรวมประสบการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และหมวกใบที่สอง เป็นนักศึกษาวิชาเอกมานุษยวิทยาการแพทย์ หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา โดยได้ รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรฯ ผู้ต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมศึกษาจากพยาบาลศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาที่สามารถเข้าคู่ต่อยอดทางวิชาการได้อย่างลงตัว โดยผู้วิจัยสามารถตีแผ่ชีวิตและการทำงานของ"อาสาสมัครกู้ภัย" ผ่านการคลุกคลีทำงานอาสาร่วมกับอาสาสมัครกู้ภัยในทุกแง่มุม ไม่ใช่แต่เพียงทำตามทฤษฎีเท่านั้น
ซึ่งการทำงานของอาสาสมัครกู้ภัยเป็น "การบริบาลฉุกเฉินภาคประชาชน" ที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน เพื่อช่วยเหลือประชาชน และเสริมหนุนการทำงานภาครัฐ ที่ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เป็นความเสี่ยงในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่เพื่อพร้อมตื่นตัวรับมือกับภัยพิบัติ โรคอุบัติใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เช่นการระบาดของโรคCOVID-19 โดยไม่ต้องรอคอยแต่การช่วยเหลือจากแพทย์และสาธารณสุขวิชาชีพ ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยที่ใช้มุมมองทางด้านวัฒนธรรมมาเชื่อมต่อและเติมเต็ม และในเวลาต่อมาสามารถจุดประกายให้สังคมไทยเกิดการตระหนักในบทบาทและความสำคัญของอาสาสมัครกู้ภัย ซึ่งเป็นงานจิตอาสาที่ต้องอาศัยพลังจากแรงศรัทธาและเสียสละ เสี่ยงภัยแต่ยังไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร จากการลงพื้นที่จริงเก็บข้อมูลเชิงลึกด้วยตัวเอง
และถึงแม้จะไม่ได้เรียนหมออย่างที่ตั้งใจ แต่ก็ไม่ละความพยายามที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยให้บรรเทาจากความทุกข์ทรมานด้วยอาการเจ็บป่วย กภ.อเนชา โหราศาสตร์ ศิษย์เก่าหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัดคณะกายภาพบำบัด อดีตประธานสภานักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ยังรับเอาคติประจำมหาวิทยาลัยมหิดลที่ว่า "อัตตานัง อุปมัง กเร" หรือ "พึงเอาใจเขามาใส่ใจเรา" มาเป็น "คติประจำใจ" ในการปฏิบัติหน้าที่ "นักกายภาพบำบัดวิชาชีพ" ในปัจจุบันต่อไปให้ดีที่สุด
โดย กภ.อเนชา โหราศาสตร์ ได้เปิดใจเล่าถึงประสบการณ์ที่ตนประทับใจ ในสมัยที่ได้ฝึกปฏิบัติงานในฐานะนักศึกษากายภาพบำบัดของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาเข้ารับการทำกายภาพบำบัดเป็นผู้สูงวัย ตนได้ใช้เคล็ดลับที่ทำให้สามารถเข้าถึงผู้ป่วยสูงวัย ด้วยการพยายามปฏิบัติต่อผู้ป่วยสูงวัย เหมือนดูแลญาติผู้ใหญ่ของตัวเองด้วยความเป็นกันเอง และไม่เคร่งเครียดจนเกินไป ใช้วิธีพูดคุยด้วยไมตรี แทนการออกคำสั่ง และพยายามหากิจกรรมออกกำลังกายที่ออกแบบตามเป้าหมายที่ผู้ป่วยสูงวัยสนใจแล้วให้ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งความประทับใจแรกๆเกิดขึ้นจากการสามารถทำให้ผู้ป่วยสูงวัยที่เดินไม่ได้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างคนปกติ และยิ้มได้อีกครั้ง
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210