วันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2565 สภากาชาดไทย โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมด้วยโรงพยาบาลสมุทรสาคร หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม พร้อมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ร่วมลงพื้นที่ออกหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมระบบบริการบันทึกข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตนด้วยการสแกนม่านตา (Iris Scan) และถ่ายภาพใบหน้า (Face Verification) ให้แก่กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในตลาดกลางกุ้ง และตลาดทะเลไทย อ.มหาชัย จ. สมุทรสาคร รวมถึงบริเวณใกล้เคียงที่ไม่ได้อยู่ในสถานประกอบการ ตามมาตรการเชิงรุกของจังหวัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในกลุ่มแรงงานต่างด้าว สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ภายใต้โครงการ "ตลาดอาหารทะเลต้นแบบ สร้างภูมิต้านทานโควิด เพื่อเศรษฐกิจสมุทรสาคร"
ในการปฏิบัติงานครั้งนี้ เนคเทค สวทช. โดยทีมวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ และงานยกระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี ได้นำองค์ความรู้เทคโนโลยีด้านการประมวลผลภาพใบหน้า ด้วยการเก็บข้อมูลจากการบันทึกภาพถ่ายใบหน้า นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบภาพจากขั้นตอนการตรวจจับใบหน้า พัฒนาขึ้นเป็นระบบบริการยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า (Face Verification) สำหรับการระบุตัวตน
ร่วมกับการเชื่อมโยงข้อมูลสแกนม่านตาของสภากาชาดไทย จากระบบ iRespond เพื่อรับวัคซีนโควิด-19 ที่จัดสรรโดยสภากาชาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งระบบดังกล่าวนี้จัดทำขึ้นเพื่อลงทะเบียนฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หนีภัยการสู้รบ แรงงานต่างด้าว โดยใช้วิธีกำหนดรหัสประจำตัวด้วยหมายเลข 13 หลักเป็นการชั่วคราวให้กับผู้รับวัคซีนฯ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการลงบันทึกข้อมูลบุคคล และประวัติการรับวัคซีน เมื่อแรงงานมีการย้ายที่ทำงานหรือถิ่นที่อยู่อาศัย ก็สามารถสืบค้นประวัติการรับวัคซีนได้ง่าย โดยภายหลังจากที่กลุ่มแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง ตลาดทะเลไทย จ. สมุทรสาคร เข้ารับบริการฉีดวัคซีน ซึ่งมีทั้งผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ผู้ที่มารับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 ได้มาร่วมลงทะเบียนเก็บข้อมูลในระบบบริการยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า (Face Verification) และการสแกนม่านตาจากระบบ iRespond จำนวนทั้งสิ้น 2,151 คน แบ่งเป็น
- ตลาดกลางกุ้ง จำนวน 513 คน (พม่า 506 คน กัมพูชา 6 คน ลาว 1 คน)
- ตลาดทะเลไทย จำนวน 1,638 คน (พม่า 1,605 คน กัมพูชา 7 คน ลาว 22 คน ไม่ระบุ 4 คน)
ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย นำโดย พลโท นายแพทย์อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ หน่วยงานภาคีเครือข่าย และเนคเทค สวทช. ได้ร่วมออกหน่วยนำระบบบริการยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า และการสแกนม่านตานี้ ลงพื้นที่ให้บริการแก่กลุ่มชาติพันธ์ ผู้หนีภัยการสู้รบ แรงงานต่างด้าว ในเขตพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อบันทึกข้อมูลภายหลังจากรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยได้จัดเก็บข้อมูลลงในระบบแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 10,329 คน ได้แก่
- แรงงานด้อยสิทธิ ในกรุงเทพฯ ณ สำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ สภากาชาดไทย กรุงเทพมหานคร จำนวน 788 คน
- กลุ่มชาติพันธุ์ ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ บ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี จำนวน 3,937 คน
- ศูนย์พักพิงบ้านใหม่ในสอย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 2,763 คน
- ศูนย์พักพิงแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก จำนวน 690 คน
- ตลาดอาหารทะเลสด จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 2,151 คน
ซึ่งระบบบริการยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า และการสแกนม่านตา จะทำการเก็บข้อมูลครั้งแรกของผู้ที่มารับวัคซีน เมื่อมารับการฉีดวัคซีนครั้งถัดไป ระบบฯ จะตรวจสอบจากภาพใบหน้าและยืนยันตัวตน เพื่อเข้ารับวัคซีน
จากการดำเนินการผ่านมาแล้ว 5 เดือน สามารถให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มดังกล่าว ไปแล้วกว่า 13,300 โดส โดยมีทั้ง เข็ม 1, 2 และเข็มกระตุ้น
ทั้งหมดนี้ ถือเป็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงาน นำโดย สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานตามหลักมนุษยธรรม เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากแก่เพื่อนมนุษย์ที่เดือดร้อนและไร้โอกาส ให้สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข ได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน และการให้บริการวัคซีนฯ อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว เป็นปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสพัฒนาเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ ช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วย และเสียชีวิต รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของคนในประเทศไทยได้อีกด้วย