พบกบลำธารชนิดใหม่ของโลกที่เมียนมาร์ นักวิจัยจุฬาฯ ชี้ระบบนิเวศยังสมบูรณ์

ข่าวทั่วไป Tuesday February 22, 2022 09:43 —ThaiPR.net

พบกบลำธารชนิดใหม่ของโลกที่เมียนมาร์ นักวิจัยจุฬาฯ ชี้ระบบนิเวศยังสมบูรณ์

นักชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมมือนักวิจัยเยอรมนีและเมียนมาร์ พบกบลำธาร2 ชนิดใหม่ของโลกที่เมียนมาร์ ชี้ความหลากหลายทางชีวภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงอยู่ วอนทุกฝ่ายร่วมอนุรักษ์ผืนป่าก่อนสิ่งมีชีวิตมีค่าสูญพันธุ์

ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ค้นพบเขียดชนิดใหม่ของโลกในป่าประเทศเมียนมาร์ (https://www.chula.ac.th/news/47000/) อาจารย์ ดร.ภาณุพงศ์ ธรรมโชติ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังได้ค้นพบกบลำธารชนิดใหม่ของโลกอีก 2 ชนิด ที่เขตพะโค ทางตอนเหนือของเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์

สำหรับ อ.ดร.ภาณุพงศ์ ผู้วิจัยสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในภูมิภาคนี้มาอย่างต่อเนื่อง การค้นพบสิ่งมีชีวิตเช่นเขียดและกบลำธารในประเทศเมียนมาร์นับเป็นภาพสะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทุกฝ่ายควรตระหนักและร่วมอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป

เทคโนโลยีจีโนมเผยพันธุกรรมกบชนิดใหม่

การค้นพบกบลำธารชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของทีมวิจัย 3 ประเทศ คือ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอีสต์ย่างกุ้ง (East Yangon University) ประเทศเมียนมาร์ และสถาบัน Senckenberg Forschungs institut und Naturmuseum ประเทศเยอรมนี นำโดย Prof.Dr.Gunther Koehler ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานและเทคโนโลยีจีโนมของสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก

"เราใช้เวลาศึกษาวิจัยกว่า 2 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไปกับการเก็บตัวอย่างกบในพื้นที่ทั้งไทยและเมียนมาร์ให้ได้ครบตามจำนวนที่ตั้งไว้จากนั้นจึงส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิจัย Senckenberg ประเทศเยอรมนี โดยนำความรู้ทางฟิสิกส์มาประยุกต์ใช้ทางชีววิทยา ทำการตรวจสอบ DNA ศึกษาโครงสร้างเสียงร้องของกบ รวมทั้งศึกษาจีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของกบ จนพบกบชนิดใหม่ของโลกถึง 2 ชนิด" ดร.ภาณุพงศ์ เล่าถึงกระบวนการวิจัยในโครงการสำรวจความหลากหลายของกบในตระกูลกบลำธารในเมียนมาร์และเขตเทือกเขาทางตะวันตกและภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562

การศึกษาและค้นพบกบลำธารทั้ง 2 ชนิดได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Diversity ซึ่งเป็นวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

ลักษณะกบลำธารชนิดใหม่ของโลก

ดร.ภาณุพงศ์ อธิบายถึงลักษณะทั่วไปของกบลำธารว่า "กบลำธารอาศัยอยู่ในลำธารในป่าเขตร้อน อย่างในป่าภาคตะวันตกและภาคใต้ของไทย มีขนาดตัว3-5 เซนติเมตร ลำตัวสีน้ำตาลคล้ายใบไม้เพื่อการพรางตัว กบชนิดนี้จะส่งเสียงร้องเฉพาะเวลากลางคืนเพื่อการผสมพันธุ์ ช่วงที่เป็นลูกอ๊อดจะอาศัยบริเวณลำธารที่น้ำไหลไม่แรง และเมื่อโตเต็มวัยจะอาศัยอยู่ข้างลำธารและพบมากในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูสืบพันธุ์"

สำหรับกบลำธาร 2 ชนิดใหม่ของโลกที่เพิ่งค้นพบนั้น ตัวแรกคือกบลำธารพะโค หรือมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Limnonectes bagoensis ส่วนกบอีกชนิดคือกบป่าไผ่พะโค มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Limnonectes bagoyoma

"กบทั้งสองชนิดมีลักษณะคล้ายกันคือผิวหนังลื่น มีสีน้ำตาลเข้มหรือสีเขียวมะกอกปน ขาหน้ามี 4 นิ้ว ไม่มีพังผืด ขาหลังมี 5 นิ้ว มีพังผืดสำหรับว่ายน้ำ ผิวหนังด้านหลังค่อนข้างเรียบมีตุ่มหรือสันเพียงเล็กน้อย ผิวหนังด้านท้องสีขาวครีมเรียบไม่มีตุ่ม" ดร.ภาณุพงศ์ อธิบาย

"ส่วนลักษณะที่แตกต่างกันก็คือกบลำธารพะโคจะมีแถบสีดำคาดตั้งแต่ปลายจมูกถึงแผ่นหู และมีขนาดลำตัว 30-49 ซม. ใหญ่กว่ากบป่าไผ่พะโคซึ่งมีขนาด 23-29 ซม."

ความสัมพันธ์ของกบกับระบบนิเวศ

การค้นพบกบชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้เป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากกบชนิดนี้จะอาศัยในแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สะอาดและมีน้ำไหลตลอดเวลาจึงจะพบได้เฉพาะในลำธารที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ดร.ภาณุพงศ์ กล่าวว่าแม้กบลำธารจะยังคงมีอยู่ แต่ก็ไม่มากนัก หากการตัดไม้ทำลายป่ายังคงดำเนินต่อไป การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าก็อาจทำให้กบเหล่านี้สูญพันธุ์ได้ในที่สุด

"เราหวังว่าองค์ความรู้จากการวิจัยในครั้งนี้จะทำให้คนเห็นความสำคัญของป่าไม้ ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และหาแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้เหมาะสมและเป็นการอนุรักษ์ป่าด้วย" ดร.ภาณุพงศ์ กล่าว

อนาคตการค้นพบสัตว์ชนิดใหม่

ดร.ภาณุพงศ์ยังคงเดินหน้าศึกษาเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในบ้านเราต่อไป โดยจะวิจัยเพิ่มเติมเรื่องกบลำธารและกบทางภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับกบที่พบในประเทศเมียนมาร์ รวมทั้งศึกษาวิจัยสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ เช่น จิ้งเหลนชนิดใหม่ของโลกที่อาศัยอยู่บนภูเขาในประเทศอินโดนีเซีย งูปี่แก้วซึ่งเป็นงูไม่มีพิษแต่ชอบกินไข่งูที่มีพิษ และงูกะปะซึ่งเป็นงูที่มีพิษรุนแรงและมักพบข่าวคนถูกงูชนิดนี้กัดจำนวนมาก เป็นต้น

"การค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ๆ ถือเป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าในภูมิภาคบ้านเราซึ่งเราเชื่อว่ายังมีสิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอีกมากที่รอให้เราค้นพบและเรียนรู้ การศึกษาวิจัยเรื่องสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทำให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกับมนุษย์ในระบบนิเวศ สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกบางชนิดมีประโยชน์ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้รูปร่างหน้าตาของสัตว์ประเภทนี้จะไม่สวยงามเหมือนสัตว์ชนิดอื่น ๆ สัตว์บางชนิดมีอาจมีพิษที่อันตราย แต่สัตว์เหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ การศึกษาวิจัยธรรมชาติวิทยาและชีววิทยา รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์เหล่านี้จะช่วยให้มนุษย์เราสามารถรักษาสมดุลของระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน" ดร.ภาณุพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ