ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาคดี กสช.

ข่าวทั่วไป Thursday November 24, 2005 11:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--ศาลปกครอง
วันที่ (๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘) เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ ๒ ศาลปกครองกลาง
ได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ๓๖/๒๕๔๘ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๕๗๐/๒๕๔๘ ระหว่างนายประมุท สูตะบุตร (ผู้ฟ้องคดี) กับ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑ และคณะกรรมการสรรหา กสช. ที่ ๒
(ผู้ถูกฟ้องคดี) เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ
โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (กระบวนการสรรหา กสช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย)
จากการที่นายประมุท สูตะบุตร ได้ยื่นฟ้องสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสรรหา กสช เป็นคดีปกครองต่อศาลปกครองกลาง กล่าวหาว่าสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศเรื่อง คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ และวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคณะกรรมการสรรหา กสช. ได้มีมติและประกาศ ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๘ คัดเลือกผู้สมัครจำนวน ๑๔ คน เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็น กสช. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลปกครองกลางโดยองค์คณะพิจารณาพิพากษาที่ ๙ ซึ่งประกอบด้วยนายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง และตุลาการในองค์คณะอีกสองท่านคือนายณัฐ รัฐอมฤต และนายสมศักดิ์ ตัณฑเลขา ได้นัดคู่กรณีมาฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เวลา ๑๓.๓๐ น.
ในประเด็นเรื่องที่กล่าวหาว่าสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศเรื่อง คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ และวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลพิจารณาว่าประกาศรายชื่อของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ และลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ ระบุว่านายสมพร เทพสิทธา ยังคงมีฐานะเป็นกรรมการสรรหา กสช. ในฐานะผู้แทนสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ เป็นการขัดต่อมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้องค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านสื่อสารมวลชนหรือใช้สื่อสารมวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรทางธุรกิจส่งผู้แทนได้องค์กรละหนึ่งคนเท่านั้นโดยมาจากองค์กรที่หลากหลายไม่ซ้ำกัน แต่ปรากฏว่าเมื่อนายสมพร เทพสิทธา พ้นจากการเป็นรองประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว กลับมีการกล่าวอ้างว่านายสมพร ฯ เป็นผู้แทนสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ทั้งที่สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติก็ได้ส่งบุคคลอื่นเข้ารับการคัดเลือก
ดังนั้น องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กสช. ตามประกาศของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ และวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับในประเด็นเรื่องที่กล่าวหาว่าคณะกรรมการสรรหา กสช. ได้มีมติและประกาศ
ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๘ คัดเลือกผู้สมัครจำนวน ๑๔ คน เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็น กสช. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลพิจารณาว่าโดยที่การพิจารณาคัดเลือก กสช. ในกรณีนี้เป็นการพิจารณาทำคำสั่งทางปกครองต่อเนื่องจากขั้นตอนการคัดเลือกเดิมที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีความสัมพันธ์ซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง โดยไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปมีสิทธิมาสมัครเพิ่มเติม โดยเริ่มกระบวนการสรรหาจากผู้สมัครเดิมจำนวน ๑๐๓ คน พลเอก สุนทร โสภณศิริ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีเหตุดังกล่าวตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจึงย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาผู้สมัครรายรองศาสตราจารย์ สุพัตรา สุภาพ โดยต้องถือว่าไม่อยู่ในสภาพที่จะเป็นกลางที่จะพิจารณาในเรื่องเดียวกันนั้นอีก และโดยเหตุผลทำนองเดียวกัน ระหว่างพลเอก สุนทร โสภณศิริ กับพลเอก ธงชัย เกื้อสกุล ก็เคยมีเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครไม่เป็นกลางตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ประกอบกับการคัดเลือกครั้งใหม่นี้ยังคงเป็นกลุ่มผู้สมัครเดิมจำนวน ๑๐๓ คน ซึ่งรวมพลเอก ธงชัยฯ ด้วยจึงย่อมเห็นได้ว่าพลเอก สุนทรฯ ไม่อาจอยู่ในสถานะที่เป็นกลางกับผู้สมัครรายพลเอก ธงชัยฯ ได้เช่นเดียวกันกับผู้สมัครรายรองศาสตราจารย์ สุพัตราฯ นอกจากนี้ กรณีเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางดังกล่าว ไม่ใช่กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือสิทธิของบุคคล หรือไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทน จึงไม่เข้าข้อยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางมาใช้บังคับ ตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่พลเอก สุนทรฯ ได้ลงมติกรณีรองศาสตราจารย์ สุพัตราฯ และกับพลเอก ธงชัยฯ ย่อมส่งผลให้การพิจารณาทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะปรากฏว่ามีกรรมการสรรหา กสช. เพียงคนเดียวมีเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง แต่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๗ ได้กำหนดให้การคัดเลือกทั้งสามขั้นตอนดำเนินการโดยกรรมการสรรหา กสช. แต่ละคนออกเสียงได้ไม่เกินจำนวนรายชื่อที่ต้องการ การลงคะแนนของพลเอก สุนทรฯ จึงกระทบต่อผู้สมัครทุกคนในทุกขั้นตอน มติของคณะกรรมการสรรหา กสช. ในทุกขั้นตอนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนั้นมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ บัญญัติให้ กสช. ต้องเป็นผู้มีผลงานหรือเคยปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม
เศรษฐกิจ ความมั่นคง กฎหมายมหาชน หรือกิจการท้องถิ่น อันจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการสรรหา กสช. พิจารณาคัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ตามมาตรา ๗ เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนกรรมการที่จะได้รับแต่งตั้งเสนอต่อประธานวุฒิสภาพร้อมทั้งรายละเอียดของบุคคลดังกล่าว ซึ่งต้องระบุให้ชัดเจน หรือมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมในด้านใดด้านหนึ่งตามมาตรา ๗ และความยินยอมเป็นหนังสือของผู้ได้รับการเสนอชื่อ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการสรรหา กสช. คัดเลือกผู้สมัครสองคนในจำนวน ๑๔ คนโดยกล่าวอ้างว่ามีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ โดยบุคคลดังกล่าวไม่ได้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญจริง จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และโดยที่กรณีการขาดคุณสมบัติของนายสมพรฯ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ก่อนที่จะมีการพิจารณาทางปกครองในการคัดเลือก กสช. กรณีย่อมทำให้นายสมพรฯ เป็นผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องการคัดเลือก กสช. ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตั้งแต่ต้น และโดยที่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๗ ได้กำหนดให้การคัดเลือกทั้งสามขั้นตอนดำเนินการโดยกรรมการสรรหา กสช. แต่ละคนออกเสียงได้ไม่เกินจำนวนรายชื่อที่ต้องการ การลงคะแนนของนายสมพรฯ จึงกระทบต่อผู้สมัครทุกคนในทุกขั้นตอน การที่นายสมพรฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาทางปกครองคัดเลือก กสช. จึงมีผลทำให้มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในทุกขั้นตอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยสรุป องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กสช. ตามประกาศของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งมติและคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่คัดเลือก
ผู้สมัครจำนวน ๑๔ คน เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็น กสช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรต้องเพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเสีย และโดยที่คณะกรรมการสรรหา กสช. ยังขาดองค์ประกอบในส่วนของผู้แทนองค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ จึงสมควรต้องเริ่มกระบวนการสรรหา กสช. ตั้งแต่ชั้นการแต่งตั้งกรรมการสรรหา กสช. ให้ครบถ้วนตามองค์ประกอบของกฎหมาย ก่อนที่จะดำเนินการพิจารณาทางปกครองเพื่อคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็น กสช. ต่อไป
พิพากษาให้เพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรื่อง คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ และวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ และประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๘ ที่คัดเลือกผู้สมัครจำนวน ๑๔ คน เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็น กสช. ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ลงในประกาศแต่ละฉบับเป็นต้นไป โดยถือเสมือนว่าผู้ได้รับการคัดเลือกทั้ง ๑๔ คน ไม่เคยได้รับการคัดเลือกและเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อมีมติเลือกเป็น กสช. คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ