รู้ก่อน รักษาทัน ลดเสี่ยงเสียชีวิต ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยปัสสาวะ นวัตกรรมเพื่อสุขภาพผู้หญิงจากจุฬาฯ

ข่าวทั่วไป Wednesday February 23, 2022 11:21 —ThaiPR.net

รู้ก่อน รักษาทัน ลดเสี่ยงเสียชีวิต  ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยปัสสาวะ  นวัตกรรมเพื่อสุขภาพผู้หญิงจากจุฬาฯ

นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนาชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ ตรวจง่าย รู้ผลแม่นยำ รวดเร็วเพื่อเริ่มต้นการรักษาตั้งแต่ระยะแรก การันตีคุณภาพด้วยรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2564 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

มะเร็งปากมดลูกรักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆ แต่การตรวจมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายสูงและเป็นการตรวจด้วยวิธีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก ซึ่งทำให้ผู้หญิงหลายคนรั้งรอไม่อยากตรวจ อันอาจเป็นเหตุให้มะเร็งลุกลามจนยากจะรักษา

แต่วันนี้ มีอุปกรณ์ที่จะช่วยให้การตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นเรื่องง่ายขึ้น ไม่เจ็บ และทำได้เป็นประจำ ชุดตรวจเซนเซอร์ฐานกระดาษสำหรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก (HPV Testing Kits) ที่พัฒนาโดยทีมวิจัยจากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล ดร.ปฤญจพร ทีงาม คุณสริดา เนาว์รุ่งโรจน์ ดร.สมรัก เพชรโฉมฉาย ร่วมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์

"มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่รัฐบาลรณรงค์ให้ผู้หญิงตรวจเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ข้อจำกัดในการตรวจอยู่ที่วิธีการตรวจแบบดั้งเดิมที่จะต้องเก็บตัวอย่างบริเวณปากมดลูกโดยการขึ้นขาหยั่ง ซึ่งผู้หญิงหลายคนกลัวและไม่กล้าเข้ารับการตรวจ เราจึงมองหาวิธีการที่ง่ายกว่าและเข้าถึงได้ง่าย เพื่อเพิ่มอัตราการตรวจและความถี่ในการตรวจ ซึ่งหากพบความผิดปกติก็จะได้รีบรักษาได้โดยเร็ว" ดร.ปฤญจพร หนึ่งในผู้วิจัยหลัก กล่าวถึงโจทย์ในการคิดค้นนวัตกรรมนี้

รู้ให้ทันมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสองของผู้หญิงไทย รองจากมะเร็งเต้านม แต่ละปีจะพบผู้ป่วยรายใหม่ราว 10,000 คน เป็นหญิงอายุ 30-60 ปี และมีอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งชนิดนี้สูงถึงปีละกว่า 5,000 คน ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้ผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไป เริ่มตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกๆ 5 ปี

รู้ให้ทันมะเร็งปากมดลูก

รู้ให้ทันมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสองของผู้หญิงไทย รองจากมะเร็งเต้านม แต่ละปีจะพบผู้ป่วยรายใหม่ราว 10,000 คน เป็นหญิงอายุ 30-60 ปี และมีอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งชนิดนี้สูงถึงปีละกว่า 5,000 คน ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้ผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไป เริ่มตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกๆ 5 ปี

รู้ให้ทันมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสองของผู้หญิงไทย รองจากมะเร็งเต้านม แต่ละปีจะพบผู้ป่วยรายใหม่ราว 10,000 คน เป็นหญิงอายุ 30-60 ปี และมีอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งชนิดนี้สูงถึงปีละกว่า 5,000 คน ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้ผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไป เริ่มตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกๆ 5 ปี

ศ.ดร.อรวรรณ ให้ข้อมูลว่ามะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักมาจากเชื้อไวรัส HPV (Human papillomavirus) ซึ่งแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ การสวมถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกก็ยังไม่ครอบคลุมสำหรับคนทั่วไป และผลการป้องกันก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์

"ผู้ที่รับเชื้อมาแล้วส่วนมากจะไม่มีอาการ ทำให้การตรวจหาไวรัสโดยตรงยังเป็นสิ่งจำเป็น การตรวจเชื้ออย่างสม่ำเสมอเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้" ศ.ดร.อรวรรณ กล่าวเน้น

ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกเซนเซอร์ฐานกระดาษ
การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยชุดตรวจง่ายและเร็วกว่าการตรวจด้วยวิธีตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องสอดเครื่องมือและถ่างช่องคลอด ไม่ต้องเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากมดลูกไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเซลล์ที่ผิดปกติ

"การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยชุดตรวจเซนเซอร์ฐานกระดาษเป็นการตรวจ DNA ของเชื้อไวรัส HPV โดยใช้ PNA (Peptide Nucleic Acid) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบ DNA ที่ออกแบบให้มีความจำเพาะกับเชื้อที่ต้องการตรวจ ซึ่งสามารถระบุสายพันธุ์ได้ เนื่องจาก HPV มีหลายสายพันธุ์ แต่ไม่ใช่ทุกสายพันธุ์จะก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก เราจึงออกแบบให้สารสังเคราะห์นี้ระบุการติดเชื้อ HPV ด้วยว่าเป็นสายพันธุ์ไหน" ศ.ดร.อรวรรณ อธิบาย

วิธีการใช้ชุดตรวจเซนเซอร์ฐานกระดาษเป็นรูปแบบที่คล้ายกับวิธีที่ผู้คนคุ้นเคยเป็นอย่างดี อย่างที่ใช้กันเสมอๆ ในการตรวจโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK

"เราจะนำตัวอย่างปัสสาวะมาผสมกับสารละลาย แล้วนำมาหยดลงกระดาษ จากนั้นก็สังเกตการเปลี่ยนแปลงของสีสารละลาย โดยปกติ สารละลายที่ใช้ตรวจจะมีสีแดงเข้ม แต่หากตัวอย่างปัสสาวะมีเชื้อไวรัสอยู่ สีของสารละลายจะอ่อนลง ซึ่งความเข้มและอ่อนของสีจะเชื่อมโยงกับปริมาณเชื้อไวรัสด้วย ทั้งนี้จะมีอุปกรณ์เสริมที่ช่วยทำให้สังเกตความเข้มของสีได้ชัดเจนขึ้น โดยทำงานร่วมกับแอปพลิเคชัน Colorimeter บนสมาร์ทโฟน"

ศ.ดร.อรวรรณ กล่าวให้ความมั่นใจว่าชุดตรวจเซนเซอร์ฐานกระดาษได้รับการตรวจสอบแล้วว่ามีค่าความแม่นยำสูง ทั้งค่าความไว (Sensitivity) 85 เปอร์เซ็นต์ ค่าความจำเพาะ (Specificity) 78 เปอร์เซ็นต์ และค่าความสามารถในการทำซ้ำ (Reproducibility) 100 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบัน HPV Testing Kits ยังไม่ผลิตเป็น Home Use ที่คนทั่วไปจะหาซื้อมาใช้เองได้ แต่เน้นการใช้งานในหน่วยงานอนามัยและโรงพยาบาลชุมชน

"ในปัสสาวะมี DNA น้อยกว่าเนื้อเยื่อ เราจึงต้องมีอุปกรณ์เพิ่มปริมาณ DNA เพื่อทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสีเมื่อมี DNA ได้ชัดขึ้น ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวมีใช้ในสถานพยาบาลและโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ อยู่แล้ว"

ดูแลสุขภาพอย่างไร ห่างไกลมะเร็งปากมดลูก
ศ.ดร.อรวรรณ ฝากหลักในการดูแลสุขภาพที่จะช่วยให้ผู้หญิงห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูกว่า "อันดับแรกคือการรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ ฉีดวัคซีนป้องกันได้แต่ก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ วิธีที่ดีที่สุดก็คือตรวจมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอเพื่อที่เราจะได้รู้ทันมะเร็งแต่เนิ่นๆ แล้วเริ่มรับการรักษาโดยเร็ว"

ทีมวิจัยชุดตรวจเซนเซอร์ฐานกระดาษหวังว่าชุดตรวจนี้จะจูงใจให้ผู้หญิงไปตรวจมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น ไม่เพียงเพราะง่าย ไม่เจ็บ แต่ด้วยสนนราคาที่เอื้อมถึงคือชุดละไม่เกิน 500 บาท

"เราอยากให้ผู้หญิงมาตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เราจึงพยายามทำให้ชุดตรวจมีราคาต่ำที่สุดเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและมารับการตรวจเป็นประจำ เช่น ทุกเดือนที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน" ศ.ดร.อรวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

สถานพยาบาลหรือหน่วยงานที่สนใจชุดตรวจเซนเซอร์ฐานกระดาษสำหรับตรวจมะเร็งปากมดลูก สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศ.ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ