สปป.ลาว ชูโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานพลิกโฉมเศรษฐกิจ สู่ Transit Hub เชื่อมโลกการค้าจีน-อาเซียน ประเมินจีดีพี 3 ปีข้างหน้าเติบโตเฉลี่ย 4-5% ต่อปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 23, 2022 15:06 —ThaiPR.net

สปป.ลาว ชูโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานพลิกโฉมเศรษฐกิจ สู่ Transit Hub เชื่อมโลกการค้าจีน-อาเซียน  ประเมินจีดีพี 3 ปีข้างหน้าเติบโตเฉลี่ย 4-5% ต่อปี

สปป.ลาว เปิดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างการเติบโต ประเมิน GDP 3 ปีข้างหน้า (2565-2567) ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 4-5% จากแผนเดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ผลักดันประเทศสู่การเป็น Transit Hub เชื่อมโลกการค้าการลงทุนจากจีนสู่อาเซียน หลังเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีนและโครงการทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น ดึงเงินลงทุนต่างประเทศและนักท่องเที่ยว หนุนการเติบโตในระยะยาว พร้อมเตรียมเสนอขายพันธบัตร อายุ 3 ปี และ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.8% และ 6.4% วงเงินรวมไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เสนอขายแก่นักลงทุนสถาบัน และ/หรือ นักลงทุนรายใหญ่ เปิดจองซื้อ 28, 29, 30 มี.ค.นี้

คุณบุญเหลือ สินไซวอระวง รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เปิดเผยว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ที่มุ่งพัฒนา สปป.ลาว ให้ก้าวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนภายในปี 2573 โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแนวทางการพัฒนาสีเขียวแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในทุกมิติควบคู่กับนโยบายบริหารหนี้สาธารณะให้สอดคล้องแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยวางเป้าหมายการขยายตัวเศรษฐกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2565-2567) เติบโตเฉลี่ยปีละ 4-5% ผ่านนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนมีงานทำ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยนำศักยภาพของประเทศขับเคลื่อนผ่านการผลิตและการบริการในทุกด้าน

ทั้งนี้ สปป.ลาว มีแผนยุทธศาสตร์เพิ่มความสามารถการแข่งขันจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมครั้งใหญ่ เพื่อปลดล็อคภูมิศาสตร์ประเทศที่ไม่ติดทะเล Land-Locked สู่ประเทศ Land-Linked และก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อการขนส่ง Transit Hub ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมโลกการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ทั้งประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์สู่ประเทศจีน ซึ่งถือเป็นตลาดการค้าที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ผ่านโครงการรถไฟลาว-จีน ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดย สปป.ลาว จะได้ประโยชน์จากปริมาณการค้าการส่งออก ผ่านระบบรางระหว่างตลาดจีนและอาเซียน ที่จะขยายตัวถึง 3.9 ล้านตัน ภายในปี 2573 และปริมาณการขนส่งสินค้าทางบกจาก สปป.ลาวไปสู่ประเทศจีน ที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.7 ล้านตัน ด้วยต้นทุนที่ลดลงกว่า 50% เหลือเพียง 34 ดอลล่าร์สหรัฐต่อตัน จากเดิมที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางบก เพียง 1.7 ล้านตันและต้นทุนสูงถึง 72 ดอลล่าร์สหรัฐต่อตัน พร้อมมีข้อตกลงความร่วมมือในการขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีนเพิ่มอีก 46 ล้านตัน ภายใน 5 ปีข้างหน้า คิดเป็นมูลค่าส่งออก 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว

ขณะเดียวกัน ยังดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ จากการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ (Commercial land) บริเวณสถานีต่างๆ ทั้ง 32 แห่ง ก่อให้เกิดการลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมในอนาคตและการจ้างงานภายในประเทศ รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวจีนเข้าสู่สปป.ลาวจาก 0.7 ล้านคน เพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน และเพิ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างจีนไปสู่ภูมิภาคอาเซียนจาก 2.9 เป็น 3.9 ล้านคนภายในปี 2573 นอกจากนี้ ยังมีโครงการทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น ระยะทาง 445 กิโลเมตร ที่ให้สัมปทานภาคเอกชนจีนเป็นผู้ลงทุนและดำเนินการก่อสร้างในรูปแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) ซึ่งเมื่อครบสัญญาจะโอนทรัพย์สินทั้งหมดกลับคืนรัฐบาลลาว โดยปัจจุบันได้เริ่มเปิดให้บริการในเฟสแรกแล้ว ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางโดยรถยนต์จากเวียงจันทน์ไปบ่อเต็นเหลือ 5 ชั่วโมงครึ่ง จากเดิม 13 ชั่วโมง และยังช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวอีกด้วย

"การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐบาล สปป.ลาว-จีน ทำให้การจัดสรรงบลงทุนไม่เป็นภาระทางการคลัง เนื่องจากเป็นการลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งเฉลี่ยต่อปีไม่สูงมาก สร้างสมดุลของฐานะทางการคลังและจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยมีแผนปรับลดหนี้สาธารณะเหลือ 55% ของจีดีพีภายในปี 2025 ซึ่งเป็นไปตามกรอบเพดานหนี้ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี และนำโครงการที่มีศักยภาพมาสร้างผลตอบแทนที่ดีที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงไทยจะได้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่เชื่อมตลาดส่งออกไปยังจีนได้รวดเร็วขึ้นและมีต้นทุนการขนส่งที่ลดลง เป็นโอกาสเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอีกด้วย" คุณบุญเหลือ กล่าว

รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป.ลาว กล่าวว่า สปป.ลาว มุ่งใช้นโยบายการเงินตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเงินสาธารณะ โดยเน้นการใช้จ่ายกับโครงการที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมรวมถึงการจัดทำงบประมาณระยะยาวเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ไม่เกิน 5% และดูแลเสถียรภาพเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่ง ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 1,319.17 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30% จากสิ้นปี 2563 ซึ่งมาจากกระแสเงินสดของเงินทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมปรับลด VAT จาก 10% เหลือ 7% เพิ่มความสามารถการแข่งขันภาคเอกชนและกระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศ รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น

คุณสุลีวัด สุวันนะจูมคำ อธิบดีกรมคุ้มครองหนี้สินสาธารณะ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า กระทรวงการเงินแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ MOFL ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเพื่อออกและเสนอขายพันธบัตรและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายพันธบัตรชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันและมีผู้แทนผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 จำนวน 2 ชุด ในรูปแบบสกุลเงินบาทไทย วงเงินรวมไม่เกิน 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรชุดที่ 1 อายุ 3 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.8% ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2568 และพันธบัตรชุดที่ 2 อายุไม่เกิน 4 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 6.4% ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2569 โดยกำหนดการชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปชำระคืนพันธบัตรชุดเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน

ทั้งนี้ พันธบัตรดังกล่าว จะเสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบัน และ/หรือนักลงทุนรายใหญ่ ที่ราคาเสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท จองขั้นต่ำ 100 หน่วย โดยผู้ที่สนใจสามารถจองซื้อพันธบัตรกระทรวงการคลัง สปป.ลาว ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายทั้ง 7 ราย ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ สยามเวลธ์ จำกัด โดยกำหนดให้นักลงทุนสามารถจองซื้อได้ในวันที่ 28, 29, 30 มีนาคม 2565 นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ