บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ประกาศงบผลการดำเนินงานปี 2564 โชว์รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ 3,017 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานปกติ 866 ล้านบาท ล่าสุดเตรียมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติจ่ายเงินปันผลอีก 0.16 บาทต่อหุ้น พร้อมจ่าย 19 พฤษภาคมนี้ ด้าน CEO "ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์" เดินหน้าอัดงบลงทุนปีนี้ 2,700 ล้านบาท ลุยลงทุนสาธารณูปโภค-ไฟฟ้า คาดการณ์รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติแตะระดับ 6,000 ล้านบาทในปี 2569 หรือ 2 เท่าจากปี 2564 และรักษา EBITDA Margin ในระดับไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยผลการดำเนินงานประจำปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ รับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ จำนวน 3,017 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 866 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% และ 11% จากปี 2563 ในขณะที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 736 ล้านบาท ลดลง 10% เนื่องจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน โดยสาเหตุหลักที่รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวมถึงกำไรจากการดำเนินงานปกติของบริษัทฯ เติบโตอย่างแข็งแกร่งมาจากธุรกิจสาธารณูปโภคมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณยอดขายและบริหารจัดการน้ำทั้งในประเทศและประเทศเวียดนาม รวมถึงการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทยอยเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
ธุรกิจสาธารณูปโภค ในปี 2564 บริษัทฯ มีปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกันเท่ากับ 135 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 18% จากปี 2563 โดยภาพรวมธุรกิจสาธารณูปโภคในประเทศนั้นมีการเติบโต 17% จากปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีการขยายกำลังการผลิต และลูกค้ารายใหม่จากกลุ่มโรงไฟฟ้าและปิโตรเคมี ประกอบกับไม่มีปัญหาภัยแล้งเหมือนปี 2563 โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เริ่มรับรู้รายได้จากการจำหน่ายน้ำให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GSRC ของ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในส่วนของหน่วยผลิตที่ 1 และ 2 ในเดือนเมษายน และตุลาคม 2564 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ด้วยการมุ่งเน้นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) จาก Wastewater Reclamation หรือการนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วมาใช้ใหม่ โดยใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของบริษัทฯ เพื่อผลิตน้ำมูลค่าเพิ่ม อาทิ น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) ส่งผลให้ในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) จำนวน 4 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 62% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) กับ Gulf TS3&4 ด้วยกำลังการผลิต 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งมีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 นี้ อีกทั้งบริษัทฯ ได้จับมือร่วมกับพันธมิตร บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ "บริษัท ดับบลิวเอชเอยูพี เอเซีย รีเคลมเมชั่น วอเตอร์ จำกัด" ( " WHAUP AIE " ) เพื่อดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคด้านน้ำในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (มาบตาพุด) โดยบริษัทร่วมทุนดังกล่าวได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) กับ บริษัท พูแรค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นลูกค้ารายแรก ภายใต้กำลังการผลิตกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายน้ำได้ในไตรมาส 4 ปี 2565
ขณะที่ธุรกิจน้ำในประเทศเวียดนาม ทั้งโครงการ ดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant: SDWTP) และบริษัท เก๋อ หล่อ วอเตอร์ ซัพพลาย (Cua Lo Water Supply) นั้น ในปี 2564 บริษัทฯ มียอดจำหน่ายน้ำรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 23 ล้านลูกบาศก์เมตร เติบโต 22 % จากปี 2563 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำที่ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจากลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ โดยบริษัทฯ คาดว่ายอดขายน้ำในประเทศเวียดนามในปี 2565 จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 2564 ด้วยแผนขยายธุรกิจสาธารณูปโภคไปยังจังหวัดใกล้เคียง ควบคู่ไปกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มดับบลิวเอชเอในประเทศเวียดนาม ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟสที่ 2 ซึ่งมีกำหนดเริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2565
ธุรกิจด้านพลังงาน ในปี 2564 บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าจำนวน 956 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 3% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีสาเหตุหลักจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้าถ่านหินเก็คโค่-วัน ส่งผลให้รายได้ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment) ลดลง อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 8 แห่ง ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP เพิ่มขึ้นจากปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้กฟผ. (EGAT) และลูกค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น
ในส่วนของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) นั้น บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนทั้งในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าขยะให้พอร์ตเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2564 บริษัทฯ มีการเติบโตของรายได้กว่า 335% จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการแล้วกว่า 57 เมกะวัตต์ และรายได้ใหม่จากการให้บริการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ (EPC) โดยในปี 2564 บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มจำนวน 18 โครงการ เป็นจำนวน 41 เมกะวัตต์ ทำให้ ณ สิ้นปี 2564 บริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์รวมแล้วทั้งสิ้น 92 เมกะวัตต์ สูงกว่าเป้าที่วางไว้ สำหรับปี 2565 บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สะสมเพิ่มเป็น 150 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยรวมทั้งหมดจากโรงไฟฟ้าทุกประเภท (Contracted Capacity) ตามสัดส่วนการถือหุ้นแตะ 700 เมกะวัตต์ จากปี 2564 ที่มีจำนวน 642 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าต่อยอดธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะ เพื่อซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ หรือ ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer Energy Trading โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ด้วยความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ และพันธมิตรชั้นนำด้านพลังงานและด้านเทคโนโลยี และเป็นส่วนหนึ่งของ ERC Sandbox หรือ โครงการทดลองด้านนวัตกรรมพลังงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มการทดสอบการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการซื้อขายเชิงพาณิชย์ หลังภาครัฐให้ไฟเขียว ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักหนุนให้พอร์ตพลังงานหมุนทางเลือกของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอีก 100-200 เมกะวัตต์ บรรลุเป้าหมายการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนได้ครบ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2566 ตามแผนที่วางไว้
ด้วยการพัฒนาและขยายโครงการพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (avoided CO2 emission) จากการดำเนินธุรกิจดังกล่าวได้มากกว่า 26,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งนอกจากสามารถนำไป offset กับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของกลุ่ม WHA เพื่อให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) แล้ว ปริมาณส่วนเกินของคาร์บอนที่บริษัทฯ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้นั้น ยังมีศักยภาพในการนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจต่อไป
จากผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติให้จ่ายปันรวมสำหรับผลการดำเนินงานปี 2564 ที่ 0.2525 บาทต่อหุ้น โดยเป็นเงินปันผลระหว่างกาลที่ได้จ่ายให้ผู้ถือหุ้นไปแล้วจำนวน 0.0925 บาทต่อหุ้น และเงินปันผลที่จะจ่ายเพิ่มเติมอีก 0.16 บาทต่อหุ้น โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 29 เมษายน 2565 และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการสะท้อนศักยภาพการเติบโต และการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสม่ำเสมอของธุรกิจ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร "WHAUP" ยังได้กล่าวตอกย้ำถึงแผนธุรกิจในปี 2565 ว่า บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนในปีนี้ 2,700 ล้านบาท จากแผนการลงทุนใน 5 ปี (2565 - 2569) จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนทั้งในส่วนของธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า ตามสัดส่วนประมาณ 50:50 ของงบลงทุน ซึ่งยังไม่รวมการลงทุนในต่างประเทศที่อยู่ระหว่างศึกษา ทั้งการลงทุนในโครงการใหม่ (Green Field) และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) จากแผนขยายการลงทุนดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทฯคาดการณ์รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติแตะระดับ 6,000 ล้านบาทในปี 2569 หรือ 2 เท่าจากปี 2564 ภายใต้การรักษาระดับอัตราผลกำไร EBITDA margin ในระดับไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จากการเติบโตของธุรกิจหลักทั้งน้ำและไฟฟ้า