กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ที่ระดับ “A-” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยสะท้อนกระแสเงินสดที่บริษัทได้รับอย่างสม่ำเสมอจากความต้องการใช้ถนนในเขตกรุงเทพฯ ที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการที่บริษัทเป็นผู้ประกอบการระบบทางด่วนเพียงระบบเดียวที่เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครซึ่งทำให้มีเส้นทางขึ้นลงเชื่อมโยงทั่วกรุงเทพฯ และการมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ โดยการจัดอันดับได้คำนึงถึงภาระหนี้ที่ได้รับการกำหนดเวลาชำระให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัท อย่างไรก็ดี ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากจำนวนหนี้สินที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวกับการจราจรในอนาคต และการแทรกแซงของรัฐในการปรับค่าผ่านทาง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงประมาณการจราจรที่เชื่อว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีกระแสเงินสดเพียงพอในการชำระหนี้ โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าคณะผู้บริหารของบริษัทจะสามารถดำเนินโครงการได้อย่างราบรื่นตามที่คาดไว้ โดยบริษัทจะพิจารณาแผนลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตอย่างระมัดระวัง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า BECL จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการก่อสร้างและบริหารโครงการทางพิเศษศรีรัชและส่วนเชื่อมขยายต่างๆ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องภายใต้สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยทางพิเศษศรีรัชเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 38.5 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ซึ่งเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่ก่อสร้างและบริหารโครงการโดย กทพ. โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดเส้นทางเชื่อมต่อศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ไปยังทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดเส้นทางที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางเมื่อการจราจรบนถนนปกติหนาแน่น BECL ได้จัดตั้ง บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เพื่อให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและบริหารโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ ระยะทางรวม 32 กิโลเมตร ภายใต้สัญญาในลักษณะ Build-Transfer-Operate (BTO) จาก กทพ. เป็นเวลา 30 ปี ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นใน NECL ประมาณ 53.33%
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ประกอบกับการปรับเพิ่มค่าผ่านทาง ทำให้ปริมาณจราจรบนระบบทางของ BECL ในปี 2541 ลดลงจากปี 2540 ประมาณ 7.2% อย่างไรก็ดี ปริมาณจราจรได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเติบโตเฉลี่ยประมาณ 6.9% ต่อปีในช่วงปี 2542 ถึง 9 เดือนแรกของปี 2547 จำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการก่อสร้างถนนเพิ่มในเขตชุมชนของกรุงเทพฯ ที่ไม่คุ้มค่าการลงทุน ส่งผลให้ความเร็วเฉลี่ยของการจราจรในเขตกรุงเทพฯ ลดลง ซึ่งปัญหาการจราจรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความต้องการใช้ทางพิเศษของบริษัท อย่างไรก็ดี บริษัทมีความเสี่ยงจากการประสานงานในการวางแผนและความร่วมมือระหว่างองค์กรที่ดูแลด้านการจราจรของรัฐที่ยังไม่สมบูรณ์และการปรับค่าผ่านทางซึ่งแม้จะมีการระบุไว้ในสัญญาให้มีการปรับค่าผ่านทางได้ทุก 5 ปีตามอัตราการเพิ่มของดัชนีผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ แต่บริษัทกลับไม่สามารถปรับค่าผ่านทางได้ตามที่ระบุไว้ทั้งในปี 2541 และ 2545 เนื่องจากเหตุผลทางการเมือง
ณ วันที่ 30 กันยายนยน 2547 BECL มีหนี้สินรวม 32,672 ล้านบาทซึ่งเป็นเงินกู้จากธนาคารต่างๆ โดยมีกำหนดชำระหนี้เป็นรายเดือนถึงปี 2559 ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัท อย่างไรก็ดี บริษัทอาจมีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของบริษัทหลังปี 2551 จะอิงกับอัตราดอกเบี้ยที่ลอยตัว อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับ 1.68-2 เท่าในช่วงปี 2544-2546 และทริสเรทติ้งคาดว่าจะอยู่ในระดับ 1.23-1.51 เท่าในช่วงปี 2547-2558 บริษัทมีภาระหนี้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต โดยมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 ที่ 70% มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานในระดับสูงถึง 83%-89% ตลอดเวลา 6 ปีที่ผ่านมา แต่มีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรค่อนข้างต่ำที่ประมาณ 6%-7% ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ถือเป็นอัตราปกติสำหรับบริษัทที่ลงทุนและให้บริการทางพิเศษ ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--