มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายโครงการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัลเพื่อสร้างเมืองของทุกคนในพื้นที่ภาคเหนือ จัดงานเทศกาลรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล ปี 2565 ขึ้นในวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด "MIDL for Inclusive Cities : ละอ่อน ฮ่วมใจ๋ ตีฆ้อง แป๋งเมือง" โดยในปีนี้ เยาวชนจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้เปิดเส้นทางเดินเมืองเพื่อการเรียนรู้ในชุมชน 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ เส้นทางอาหารและวิถีชีวิตสังคมพหุวัฒนธรรม เส้นทางความเชื่อ การละเล่น และวิถีชาติพันธุ์ และเส้นทางเศรษฐกิจและชายแดน ใช้ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล หรือ MIDL (Media Information Digital Literacy) ในการเรียนรู้ ตระหนัก เห็นคุณค่าของอัตลักษณ์ วิถีชุมชน วัฒนธรรมที่อยู่รอบตัว นำสู่การร่วมออกแบบบเมืองสุขภาวะในพื้นที่ให้เกิดความสุขอย่างยั่งยืน
ดร.อนุชิต วัฒนาพร หัวหน้าคณะทำงานโครงการเมืองฮ่วมใจ๋เชียงราย 2021 และประธานโปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า "หน้าที่ของคณะครุศาสตร์คือการผลิตครู แต่พอนักศึกษาของเราจบไปทำหน้าที่ครูในโรงเรียนจริง ๆ แล้ว เราพบปัญหาว่าโครงสร้างการสอนแบบเดิม ๆ ในโรงเรียนทำให้เด็กนักเรียนทุกวันนี้ยังคงเรียนรู้อยู่แต่ในห้องเรียน พอมาเจอโครงการ MIDL เรามองเห็นว่ามันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยครูรุ่นใหม่ ให้ได้ชักชวนลูกศิษย์ของเขาออกมาเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่นอกห้องเรียนร่วมกัน เพราะฉะนั้นโครงการนี้เราจึงทำงานบนเป้าหมายที่เป็นคู่ขนาน คือในขณะที่เราหวังการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก เราก็หวังการเปลี่ยนแปลงในตัวครูคู่ขนานกันไปด้วย เพราะที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ในตัวครูเลย"
"อีกด้านหนึ่งคือพื้นที่จังหวัดเชียงรายเรายังมีปัญหาเรื่องของการแบ่งแยกกลุ่มชาติพันธุ์ซ่อนอยู่ เด็กในบางพื้นที่ยังรู้สึกอายที่พูดไม่ชัด ขาดโอกาสในการแสดงออก แต่โครงการ MIDL นี้ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขามีตัวตน เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เราเคยเปิดพื้นที่ให้เด็กได้นำเสนอสิ่งที่เขาคิดให้ชุมชนฟัง มีเด็กเสนอให้ชุมชนมีตลาด ปีต่อมาพอมีงบประมาณสามารถทำได้ ชุมชนก็สร้างตลาดขึ้นมา พ่อหลวงเขาพูดว่าได้ฟังจากเด็ก ๆ แล้วก็เลยจุดประกายขึ้นมา นั่นทำให้เราได้มองเห็นชัดเจนเลยว่า อย่าคิดว่าสิ่งที่เด็กคิดหรือพูดจะเป็นจริงไม่ได้ มันเป็นไปได้หากผู้ใหญ่มองเห็นและให้เขาได้เข้ามามีส่วนร่วม ให้ทุกคนในเมืองมีสิทธิ์และมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองอย่างเท่าเทียม"
ด้าน คุณครูคมเพชร ราชคม ครูที่ปรึกษาโครงการเยาวชนพลเมืองแม่สาย "แม่สายเมืองพหุวัฒนธรรม" โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ กล่าวว่า "ผมเป็นครูสอนประวัติศาสตร์สากลและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของโรงเรียน เวลาเราสอนเรื่องวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น ที่ผ่านมาเรามักไปติดอยู่ที่เรื่องของศาสนา ทำให้เด็กบางคนไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ แต่พอเรามาใช้ MIDL ใช้กิจกรรมเดินเมืองเข้ามา ทำให้การเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีเปิดกว้างมากขึ้น เราใช้อาหารเป็นตัวเชื่อมโยงวิถีชุมชนกับวัฒนธรรมประเพณี เราเรียนรู้อัตลักษณ์ชาชนจากข้าวซอยน้อย ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นที่เด็กทุกคนรู้จัก เรียนรู้ภูมิปัญญาบรรพบุรุษจากการทำสะตวงที่ใช้ในการสะเดาะเคราะห์ มันเป็นการจุดประเด็นในการใช้สื่อรอบตัวมาช่วยในการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เด็กคิดออกนอกกรอบ ต่อยอดให้ครู นักเรียน ชุมชน ได้ทำงานออกแบบเมืองร่วมกันโดยใช้ต้นทุนอัตลักษณ์ของเราเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปเอาวัฒนธรรมจากข้างนอกเข้ามา"
ในส่วนของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ น้องแพรว - นางสาวแพรวฤทัย ศรีใจปลูก ปัจจุบันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า "หนูเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ตอนเรียน ม.6 ที่โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ ได้ไปเดินเมืองกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ มันเหมือนเปิดโลกใหม่ให้เราเลย ถึงแม้จะเป็นเส้นทางเดินที่เราคุ้นเคยอยู่ทุกวัน แต่พอเราได้เจาะลึกลงไป เข้าไปหาต้นตอความเป็นมา มันทำให้สิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวันมีคุณค่ามากขึ้น งานที่จัดขึ้นวันนี้พวกเราเด็กๆ เยาวชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เราออกเดินเมืองใหม่ เก็บข้อมูลใหม่ทั้งหมด จากนั้นค่อยเอามาวางแผนเป็นการเดินเมือง 3 เส้นทางเพื่อเล่าเรื่องเมืองของเราให้ทุกคนรู้จัก มันเป็นการเรียนรู้ที่สนุกมาก เพราะไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่มันคือการลงมือปฏิบัติเองจริง ๆ ได้นำเสนอในสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ คนข้างนอกอาจมองเห็นคนชาติพันธุ์เป็นแค่คนใช้แรงงาน ไม่มีการศึกษา แต่โครงการนี้ทำให้เรารู้สึกว่าทุกคนเท่าเทียมกัน เราอยู่ร่วมกันได้แม้เราจะมีความหลากหลายแตกต่างกันค่ะ"