นักวิชาการอาหาร สจล. ชี้ทางรอดเกษตรกรไทยด้วย "แพลนท์-เบส โปรตีน" พบช่วยยกระดับพืชเศรษฐกิจ ท็อปอัพรายได้ภาคเกษตรกรรม สู่การสร้าง Ecosystem เกษตรยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Friday February 25, 2022 13:32 —ThaiPR.net

นักวิชาการอาหาร สจล. ชี้ทางรอดเกษตรกรไทยด้วย

ผศ. ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล คณบดี คณะอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นักวิชาการด้านอาหารแปรรูป เผยทางรอดเกษตรกรไทยด้วย "แพลนท์-เบส โปรตีน" หลังพบธุรกิจแพลนท์-เบส โปรตีน และมูลค่าทางเศรษฐกิจในต่างประเทศเติบโตสูง พร้อมสร้างการตระหนักรู้และการยอมรับของผู้บริโภคชาวไทยที่เพิ่มมากขึ้น ผ่าน 3 ขั้นตอนดังนี้ 1. สร้างองค์ความรู้แพลนท์-เบส โปรตีน (Knowledge) ตระหนักรู้ถึงคุณค่าทางอาหารที่ได้รับ มั่นใจในเรื่องรสชาติที่อร่อยและมีเนื้อสัมผัสในแบบที่คุ้นเคย ผ่านการเชิญเชฟชื่อดังมาร่วมแชร์ไอเดียประกอบอาหาร Plant-Based 2. สร้างคลัสเตอร์แพลนท์-เบส โปรตีน (Plant-Based Protein Cluster) ยกระดับวัตถุดิบทางการเกษตรสู่พืชเศรษฐกิจ พร้อมทั้งสร้างรายได้เพิ่มเกษตรกรไทย และ 3. สร้างระบบนิเวศเกษตรยั่งยืน (Ecosystem) ผ่านการเชื่อมโยงภาครัฐ เอกชน และการศึกษา ผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกแบรนด์ไทย ในราคาที่คนไทยเข้าถึงได้

ติดตามความเคลื่อนไหวคณะอุตสาหกรรมอาหาร สจล. ได้ที่เว็บไซต์ http://foodindustry.kmitl.ac.th และทางเฟซบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/food.industry.kmitl หรือภาพรวมกิจกรรมของ สจล. ได้ที่ https://www.facebook.com/kmitlofficial

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล คณบดี คณะอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นักวิชาการด้านอาหาร เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนทางเลือกอย่าง 'แพลนท์-เบส โปรตีน' (Plant-Based Protein) และ 'อินเซค-เบส' (Insect-Based) ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชและแมลงเป็นส่วนประกอบนั้น ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอาหารและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก หลังพบมูลค่าการเติบโตของตลาดแพลนท์-เบส โปรตีนโลก ในปี 2564 ที่สูงถึง 4.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล: บทวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดแพลนท์-เบส โปรตีนในประเทศไทย โดยหอการค้าไทย, ปี 2564) แต่ทั้งนี้ เมื่อหันมามองอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยกลับพบว่า ยังเติบโตแบบชะลอด้วยข้อจำกัดด้านราคาและรสชาติเฉพาะของคนไทย

ดังนั้น ในฐานะนักวิชาการอาหารที่เชี่ยวชาญด้านอาหารแปรรูป จึงมีข้อเสนอแก่ภาครัฐให้ยกผลิตภัณฑ์อาหาร 'แพลนท์-เบส โปรตีน' เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างการตระหนักรู้และการยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย อันจะนำไปสู่การตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ผ่าน 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • สร้างองค์ความรู้แพลนท์-เบส โปรตีน (Knowledge) เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ทราบถึงคุณค่าทางอาหารที่ได้รับจากการทาน Plant-Based อีกทั้งยังรู้สึกถึงความไม่มั่นใจว่าอาหารดังกล่าวจะมีรสชาติ (Food Flavor) ที่อร่อย หรือมีเนื้อสัมผัส (Food Texture) ในแบบที่คุ้นเคยหรือไม่ อีกทั้งยังมีราคาสูง ดังนั้น ทุกภาคส่วนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารความรู้เรื่องสุขภาพให้เป็นเรื่องใกล้ตัวได้ อาทิ เชิญเชฟชื่อดังมาร่วมแชร์ไอเดียประกอบอาหาร Plant-Based Protein พร้อมเน้นย้ำถึงคุณค่าทางอาหารและรสสัมผัสที่คนไทยคุ้นเคย มีการจัดจำหน่ายในราคาที่เข้าถึงได้ อีกทั้งในกระบวนการผลิตยังไม่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
  • สร้างคลัสเตอร์แพลนท์-เบส โปรตีน (Plant-Based Protein Cluster) สนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคธุรกิจ สู่การเป็นคลัสเตอร์แพลนท์-เบส โปรตีน ในลักษณะของการต่อยอดพร้อมทั้งผลักดันวัตถุดิบทางการเกษตรที่จำเป็นต่อการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ Plant-Based Protein ในอนาคต อาทิ ธัญพืช ถั่วทุกชนิด เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มพร้อมทั้งผลักดันวัตถุดิบดังกล่าวสู่พืชเศรษฐกิจในอนาคต อันนำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่มเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน
  • สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมอาหาร (Ecosystem) ผ่านการเชื่อมโยง 3 ภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และการศึกษา เพื่อผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกแบรนด์ไทย ในราคาที่คนไทยเข้าถึงได้ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ของต้นทุนทางวัตถุดิบในการประกอบอาหารในแต่ละท้องถิ่น (Local Ingredient) มีความพร้อมของเทคโนโลยีระดับอุตสาหกรรมในภาคเอกชน และมีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์อาหาร (Food Science) ศักยภาพสูง ซึ่งในกรณีที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในเชิงการขับเคลื่อนนโยบายและสนับสนุนงบประมาณ ย่อมมีส่วนสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสำเร็จโดยเร็วยิ่งขึ้น

"อย่างไรก็ดี 'Plant-Based Protein' หรือ 'Insect-Based' ในมุมของนักวิชาการอาหาร ถือเป็นการสร้างโอกาสและทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้อย่างหลากหลาย ทั้งด้านผลิตภัณฑ์และราคาที่เข้าถึงได้ ที่ถึงแม้จะต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสื่อสารถึงคุณค่าทางอาหารที่ได้รับ ผลกระทบที่น้อยลงต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารในต่างประเทศได้ให้ความสำคัญในประเด็นนี้เป็นอย่างมาก เพราะการเลี้ยงหมู 1 ตัว จะมีการลงทุนในหลากมิติ ทั้งโรงเรือน น้ำ/อาหาร อีกทั้งยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และมีเทน (Methane) มาจากตัวหมู ฯลฯ แต่เมื่อเกิดการยอมรับและปรับตัวของผู้บริโภคแล้ว ย่อมสร้างความยั่งยืนแก่สิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภัสรพี กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวคณะอุตสาหกรรมอาหาร สจล. ได้ที่เว็บไซต์ http://foodindustry.kmitl.ac.th และทางเฟซบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/food.industry.kmitl หรือภาพรวมกิจกรรมของ สจล. ได้ที่ https://www.facebook.com/kmitlofficial


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ