เมื่อวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ณ อาคารหอประชุม หมู่ที่ 6 บ้านจันทร์เกษม ตำบล สองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คณะผู้บริหารกรมประมง นำโดยนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยนายสงกรานต์ แสงจันทร์ ผู้ตรวจราชการกรม ดร.สุทธินี ลิ้มธรรมมหิศร ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ดร.ฐิติพร หลาวประเสริฐ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ ร่วมประชุมติดตามรับฟังปัญหาการส่งออกลูกปลากะพงขาวของเกษตรกรในพื้นที่ ตามข้อห่วงใยของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้สั่งการให้กรมประมงเร่งช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร
จากกรณีที่กลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงลูกปลากะพงขาว ม.6 ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ เนื่องจากไม่สามารถส่งออกลูกปลากะพงขาวได้
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้ให้ความสำคัญ กับประเด็นปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีข้อห่วงใยและได้มอบหมายให้กรมประมงเร่งหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยที่ผ่านมา กรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา ทำการสำรวจข้อมูลเกษตรกรที่เลี้ยงปลากะพงขาวในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน และได้มีการจัดประชุมหารือร่วมกับกลุ่มผู้เพาะเลี้ยง ลูกปลากะพงขาว เพื่อรับฟังปัญหามาโดยตลอด และได้เตรียมวางแนวทางในการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่คณะผู้บริหารกรมประมง จะได้รับฟังปัญหาอุปสรรค ของพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงขาวด้วยตนเอง โดยเฉพาะปัญหาข้อติดขัดที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ซึ่งกรมประมงได้มีแนวทางให้ผ่อนผันการส่งออกลูกปลากะพงขาว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยจะดำเนินการภายใต้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กรมประมงจะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และมอบหมายให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งฉะเชิงเทรา กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลและทำความเข้าใจกับเกษตรกรทุกราย โดยเฉพาะขั้นตอนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ในการขอรับใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำจากกรมประมง ซึ่งฟาร์มที่ต้องการส่งออกลูกพันธุ์ไปต่างประเทศ ต้องขึ้นทะเบียนสถานประกอบการส่งออกสัตว์น้ำ (สอ.) และได้รับการรับรองสุขอนามัยฟาร์มและสุขภาพสัตว์น้ำ (เฝ้าระวังโรคไวรัส VNN,RSIV) เพื่อให้เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบ ที่ถูกต้องของกรมประมง และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบต่อไป