"การสร้างสมดุล" ระหว่างผู้ประกอบการและผู้ลงทุน ถือเป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของสำนักงาน ก.ล.ต. ในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน โดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดช่องทางการระดมทุนที่สอดคล้องกับรูปแบบที่หลากหลายทางธุรกิจสำหรับด้านผู้ประกอบการ และมุ่งเน้นให้เกิดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนที่สอดรับกับศักยภาพและความสามารถในการรับความเสี่ยงของบุคคลสำหรับด้านผู้ลงทุน
ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ได้แบ่งประเภทผู้ลงทุนออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) ผู้ลงทุนสถาบัน (2) ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (3) ผู้ลงทุนรายใหญ่ และ (4) ผู้ลงทุนรายย่อย ซึ่งผู้ลงทุนตามข้อ (2) และ (3) จะต้องมีฐานะทางการเงินตามที่กำหนด เช่น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีสินทรัพย์สุทธิไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท หรือ รายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 4 ล้านบาท หรือ เงินลงทุนตรงในหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท จึงจะถือว่ามีความสามารถในการรับความเสี่ยงและสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความเสี่ยงและซับซ้อนได้
สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เล็งเห็นถึงข้อจำกัดสำหรับกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์การลงทุน แต่อาจมีฐานะทางการเงินไม่เป็นไปตามที่กำหนด ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อมีโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ จึงทบทวนหลักเกณฑ์นิยามผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษและผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้กิจการที่ต้องการเงินทุนสามารถเข้าถึงแหล่งระดมทุนที่เปิดกว้างมากขึ้นอีกด้วย
การปรับปรุงบทนิยามผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษและผู้ลงทุนรายใหญ่ในครั้งนี้ ได้ผ่อนคลายคุณสมบัติด้านฐานะทางการเงิน และเพิ่มหลักการพิจารณาคุณสมบัติด้านความรู้หรือประสบการณ์ของผู้ลงทุนเพิ่มเติมโดยเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เป็นต้น ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทุนในด้านความรู้ทางการเงินการลงทุนหรือประสบการณ์การลงทุนหรือการทำงานของผู้ลงทุนได้ ซึ่งในส่วนของด้านความรู้ฯ จะครอบคลุมถึงการพิจารณาเรื่องการมีใบอนุญาตวิชาชีพที่กำหนดหรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับการเงินบางหลักสูตร ได้แก่ Chartered Financial Analyst (CFA), Certified Investment and Securities Analyst (CISA), Chartered Alternative Investment Analyst (CAIA) และ Certified Financial Planner (CFP) นอกจากนี้ ยังได้กำหนดบทนิยามให้ครอบคลุมถึงผู้ลงทุนสถาบัน* ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์และรับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนหรือเสี่ยงสูงมาก ได้แก่ นักวิเคราะห์การลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน (venture capital) กิจการเงินร่วมลงทุน (private equity) ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ** (angel investor) และคนคุ้นเคยกิจการ***
การปรับปรุงนิยามตามข้างต้น เช่น ต้องมีสินทรัพย์สุทธิไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท หรือ รายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท หรือเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ล้านบาท จะช่วยให้ผู้ลงทุนที่มีคุณสมบัติด้านความรู้หรือมีประสบการณ์การลงทุน มีโอกาสลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีฐานะทางเงินที่สูงมากเท่าเดิมตามที่กล่าวมาในตอนต้น พร้อมกับทางเลือกในการจัดพอร์ตลงทุนที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนสามารถยอมรับได้ ส่วนผู้ลงทุนทั่วไปก็ยังคงสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายได้บนเงื่อนไขที่ว่า สินทรัพย์นั้นมีการเปิดเผยข้อมูลที่ผู้ลงทุนสามารถนำไปวิเคราะห์ได้อย่างครบถ้วนเพียงพอ
สำนักงาน ก.ล.ต. ยังคงมีแผนที่จะเปิดให้มีช่องทางใหม่ ๆ ที่หลากหลายในด้านการระดมทุนของผู้ประกอบการเพื่อใช้สำหรับขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการระดมทุนของผู้ประกอบธุรกิจได้อย่างพอเพียงและให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากตลาดทุนได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันผู้ลงทุนจะมีโอกาสในการเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นกลไกที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาตลาดทุนในเชิงลึก รวมทั้งยังช่วยตอบโจทย์เป้าหมายการเติบโตของประเทศในอีกทางหนึ่งได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 39/2564 เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุน
รายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ จะมีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยสามารถอ่านประกาศดังกล่าวเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://capital.sec.or.th/webapp/nrs/nrs_main_search.php?chkPost=1