ปีพ.ศ.2565 นี้ นับเป็นปีที่ 53 ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับพระราชทานนาม "มหิดล" อันเป็นพระนามแห่ง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก "พระบิดาแห่งการแพทย์และสาธารณสุขของไทย" ให้เป็นชื่อของ "มหาวิทยาลัยมหิดล" สู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบตั้งแต่ปีพ.ศ.2512 ถึงปัจจุบัน
อนึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดลมีประวัติศาสตร์อันยาวนานถึง 134 ปี หากเริ่มต้นนับจากที่ประเทศไทยมี "โรงศิริราชพยาบาล" เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรก นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
เนื่องในโอกาสวันครบรอบ "53 ปีวันพระราชทานนามมหิดลและ 134 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล" 2 มีนาคม 2565มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แสดงปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ ครั้งที่ 12 เรื่อง "การปฏิรูปอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย: ไม่มีวันหยุดยั้ง" เพื่อร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พร้อมกล่าวถึงแผนปฏิรูปอุดมศึกษาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตลอดจนข้อเสนอแนะที่มุ่งจุดประกายทางความคิดให้เกิดความร่วมมือกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล สู่การร่วมสร้างสรรค์และพัฒนาขยายผลเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและมวลมนุษยชาติต่อไป
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวยกย่อง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในฐานะที่ทรงเป็น "ศูนย์รวมจิตใจ" ของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล และปวงชนชาวไทย จากที่ได้ทรงศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก เพื่อมาช่วยเหลือคนที่ลำบากที่สุดในประเทศไทย
จึงอยากให้ชาวมหาวิทยาลัยมหิดล และปวงชนชาวไทยทุกคนดำเนินตามรอยของพระองค์ ร่วมใช้ความรู้ของตน เพื่อการเสียสละ และทำประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติให้ได้มากที่สุด ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด(mindset) เพื่อให้เข้ากับโลกยุคใหม่ ใช้วิชาการไปช่วยทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้ได้มากที่สุด
ซึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดลมีส่วนสำคัญในการก่อตั้ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะครบรอบ 3 ปีในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่จะถึงนี้ จากการที่อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในเวลาต่อมา และได้มีส่วนผลักดันให้ก่อตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่รวมเอาภารกิจบริหารประเทศในส่วนของการอุดมศึกษา พัฒนาวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานด้านทุนวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมตามนโยบาย Thailand 4.0 ไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัวเช่นปัจจุบัน
จากที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการประกาศแผนปฏิรูปอุดมศึกษา โดยมีเนื้อหาส่วนใหญ่อยู่บนหลักการที่ใช้ได้จริง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติ ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการแบ่งกลุ่มอุดมศึกษาไทยออกเป็น 5 กลุ่ม ตามความเชี่ยวชาญที่โดดเด่น เพื่อการมุ่งสู่ความเป็นเลิศที่แตกต่างหลากหลายเช่น มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ในกลุ่มที่เน้นการวิจัยเชิงลึกและการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ จะมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกันไป เช่น ด้านการพัฒนาชุมชน เทคโนโลยีและศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ทำให้ประเทศสามารถสนับสนุนกลุ่มต่างๆ ได้ตรงกับความถนัด และผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และมีการแข่งขันสูงเช่นปัจจุบัน ทำให้การเรียนการสอนที่เน้นวิชาการแต่เพียงด้านเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป จำเป็นต้องเสริมด้วยวิชาการและทักษะด้านอื่นๆ ที่ใช้ได้จริงร่วมด้วย จึงได้มีการลงนามร่วมกันระหว่าง 25 สถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อพลิกโฉมทิศทางการจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาของไทย ให้สามารถเลือกเรียนข้ามศาสตร์-ข้ามสถาบันได้ตามความสนใจ โดยเน้นให้มีหลักสูตรที่เรียนแล้วใช้ได้จริง
และต่อไปจะได้มีการขยายผลสู่ระดับปริญญาตรี เพื่อเพิ่มขอบเขตทางการศึกษา และจะยกเลิกการรีไทร์สำหรับกรณีใช้เวลาศึกษานานเกินกำหนดเดิม เพื่อเพิ่มเติมโอกาสในการเรียนรู้ ตลอดจนเพิ่มพูนทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ให้กว้างขวางออกไปอย่างไร้ขีดจำกัดอีกด้วย
ที่น่าจับตา คือ การริเริ่มให้มี "ธัชวิทย์" หรือศูนย์รวมความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์ และ "ธัชชา" หรือศูนย์รวมความเป็นเลิศทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งจะเป็น Virtual Organization หรือองค์กรเสมือนจริง ที่รวมเอาทรัพยากรบุคคลที่เป็นเลิศในแต่ละสาขา จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศมาอยู่ในThink Tank หรือศูนย์รวมทางความคิดเดียวกัน
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวย้ำว่า ต่อไปมหาวิทยาลัยจะมีแต่นักวิชาการอย่างเดียวไม่ได้จะต้องมี "นักยุทธศาสตร์" ที่พร้อมจะออกจาก comfort zone มาร่วมคิดร่วมทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองร่วมกันด้วย
และในช่วงท้าย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวยกย่อง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีท่านแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อได้รับพระราชทานนาม "มหาวิทยาลัยมหิดล" ในปีพ.ศ.2512 ในฐานะผู้บุกเบิกในยุคแรกของมหาวิทยาลัยมหิดลว่า เป็นนักสู้ผู้ไม่เคยย่อท้อต่อความยากลำบาก จนส่งผลให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถเติบโตขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยในระดับแถวหน้าของประเทศไทยเช่นปัจจุบัน และหวังให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็น "ธงนำอุดมศึกษาไทย" ที่เข้มแข็งเพื่ออนาคตของประเทศชาติบ้านเมืองที่ยั่งยืนต่อไป
ติดตามชมปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ ครั้งที่ 12 เรื่อง "การปฏิรูปอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย: ไม่มีวันหยุดยั้ง" โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ย้อนหลังได้ทาง Facebook: Mahidol University พร้อมติดตามสรุปสาระสำคัญของการแสดงปาฐกถาฯ ผ่านแอปพลิเคชัน "MU PRESS" ได้ต่อไป