จังหวัดลำพูน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน ได้จัดพิธีถวายราชสักการะแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2565 เพื่อเทิดพระเกียรติ น้อมระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านการช่างของพระองค์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมอาคาร 7 สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน โดยนายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานในพิธี
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2513 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงาน แนะแนวอาชีพ และแข่งขันฝีมือแห่งชาติครั้งที่ 1 ณ ลุมพินีสถาน และมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความเป็นช่างของคนไทย ความตอนหนึ่งว่า "...ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่ สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน วิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้ายิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ
- ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ
- ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือซึ่งต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ
- ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย
การช่วยเหลือทั้งสามประการนี้จะต้องการทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า ข้าพเจ้าขอฝากความคิดทั้งนี้ไว้เป็นแนวปฏิบัติ ของท่านทั้งหลายต่อไป...."
จากพระปรีชาสามารถทางด้านการช่าง และพระราชดำรัสที่ทรงให้ไว้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2513 นั้น กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงเห็นสมควรถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน และกำหนดให้ วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็น "วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ"
เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและเป็นการน้อมรำลึกถึงพระปรีชา สามารถด้านช่าง รวมทั้งให้ความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานของช่างไทย ให้มีความเป็นมาตรฐานยกระดับช่างสู่มาตรฐานสากล ในการจัดงานครั้งนี้ มีหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน หน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานเข้าร่วมพิธี จำนวน 150 คน โดยในงานมีการจัดกิจกรรมการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, มอบหนังสือมาตรฐานฝีมือแรงงานตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ให้แก่ บริษัท เลอ ครูเซ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด, มอบหนังสืออนุญาตให้เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน, มอบหนังสือรับรองผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ให้แก่ ผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขา ผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1 จำนวน 9 คน และสาขา ช่างบำรุงรักษารถยนต์ ระดับ 1 จำนวน 12 คน นอกจากนี้ยังมอบหนังสือรับรองความรู้ความสามารถช่างไฟฟ้าภายในอาคาร จำนวน 15 คน