สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จับมือ 8 พันธมิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล พัฒนาแพลตฟอร์มกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ (National EMS Data Exchange Platform) มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลดิจิทัล และยกระดับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินอย่างเต็มตัว โดยพันธมิตรทั้ง 8 ราย ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.), ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน), สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท Coraline จำกัด ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือการสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการฯ ในวันที่ 9 มีนาคม 2565 ณ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
นาวาเอก นายแพทย์ พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า "ท่านเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา ได้ให้ความสำคัญของการปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และการขับเคลื่อนภารกิจด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยข้อมูล เพื่อนำไปสู่การยกระดับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในรูปแบบดิจิทัลทั้งระบบ จึงได้ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดโครงการการปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และจัดทำเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการข้อมูล หรือเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับการบูรณาการ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉินของทั้งประเทศ เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ กับโครงการ National EMS Data Exchange Platform องค์ประกอบที่สำคัญของแพลตฟอร์มกลางดังกล่าว ได้แก่การพัฒนานโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) การสร้างมาตรฐานชุดข้อมูล (Data Set and Standard) การสร้างมาตรฐานการเข้าถึงข้อมูล (Data Access Control) การบริหารจัดการข้อมูลเชิงคุณภาพ (Data Quality Control) การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security Control) โดย มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบและเป็นมาตรฐานของประเทศ"
นายโอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารระดับสูงด้านนโยบายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ไมโครซอฟท์ต้องขอขอบคุณสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่ให้เกียรติในการเข้าร่วมพัฒนาโครงการนี้ สำหรับไมโครซอฟท์ข้อมูลมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจ ทั้งในด้านการสนับสนุนการทำงานไปจนกระทั่งการพัฒนานโยบายต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ด้วยความร่วมมือในครั้งนี้ ไมโครซอฟท์จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและส่งต่อองค์ความรู้ในการบริหารจัดการข้อมูล นำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก พร้อมสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติให้เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้มีความสำเร็จสูงสุด ไปจนกระทั่งปรับใช้กับนโยบายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการมุ่งสู่ภารกิจประเทศไทย 4.0 อย่างสมบูรณ์แบบ"
ไมโครซอฟท์ ได้ให้การสนับสนุนการปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลดิจิทัลด้วยระบบข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (Data & AI) เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก โดยในการพัฒนาโครงการนำร่องจะใช้งานบน Microsoft Azure และ Power BI ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลจะเข้ามาช่วยให้เห็นแนวทางการพัฒนาและส่งมอบบริการต่างๆ ได้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อการทำงานของหน่วยงาน และช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงการใช้บริการสายด่วน 1669 ที่ให้บริการผู้ปวยฉุกเฉินได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า "นอกจากอำนาจหน้าที่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน 2551 ตามมาตรา 15 (3) คือการจัดให้มีระบบปฏิบัติการฉุกเฉินรวมถึงการบริหารจัดการและการพัฒนาระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินแล้วนั้น การได้มีโอกาสในการดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งภาครัฐและเอกชน ในด้านการบูรณาการ แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังทำให้ ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนี้ในภาพรวมของประเทศ สุดท้ายประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง มีมาตรฐาน ทันสมัย และมีความยั่งยืน"