โรคอกบุ๋ม หรือเรียกว่า Pectus Excavatum เป็นความผิดรูปของผนังทรวงอกที่พบบ่อยมากที่สุด ภาวะนี้มักเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ของกระดูกส่วนล่างมากไป ส่งผลให้กระดูกสันอกถูกกดยุบลงไป ส่งผลทำให้หน้าอกเกิดการยุบตัว ซึ่งมีผลทำให้บุคลิกภาพหรือความมั่นใจเสีย โดยความผิดปกตินี้อาจพบได้ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่น ในคนส่วนมากผู้ป่วยมักไม่มีอาการ แต่ในกรณีที่ภาวะนี้มีความผิดปกติอย่างรุนแรงอาจส่งผลทำให้มีอาการกดเบียดหัวใจและปอดได้ ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ในบางรายอาจมีการกดเบียดลิ้นหัวใจทำให้ลิ้นหัวใจรั่วได้
ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กล่าวว่า โรคนี้ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ โดยมักเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง 3-4 เท่า คนที่ประวัติครอบครัวอาจมีความเสี่ยงที่จะสืบทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ วิธีการวินิจฉัยมักทำได้โดยการเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT Chest) เพื่อดูสัดส่วนความกว้างยาวของบริเวณทรวงอกหรือที่เรียกว่า Haller index ถ้ามีอัตราส่วนมากกว่า 2.5 ถือว่ามีความผิดปกติ
ปัจจุบันวิธีการรักษาโรคนี้ ทำได้โดยการผ่าตัดวิธีเดียวเท่านั้น โดยจะมี 2 วิธีหลัก ๆ คือ วิธีการผ่าตัดแบบเปิด หรือ เรียกว่า Ravitch procedure หรืออีกวิธีที่เรียกว่า Sternal turnover โดยทั้งนี้การผ่าตัดแบบเปิดเป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยการตัดกระดูกบริเวณหน้าอกแล้วพลิกกลับหรือตัดบริเวณกระดูกอ่อนแล้วดันขึ้นมา ส่วนอีกวิธีคือการผ่าตัดส่องกล้องหรือที่เรียกว่า Nuss procedure เป็นการผ่าตัดส่องกล้องโดยใช้แท่งโลหะผ่านบริเวณใต้กระดูกหน้าอกแล้วดัดกระดูก โดยไม่ได้มีการตัดกระดูก โดยจะใช้เวลาดัดประมาณ 3-4 ปี หลังจากนั้นจึงจะเอาเหล็กออก ปัจจุบันนวัตกรรมการผ่าตัดส่องกล้องเป็นวิทยาการที่แพทย์สมัยใหม่มักนิยมใช้รักษาผู้ป่วยในหลาย ๆ โรคอกบุ๋ม ก็เช่นเดียวกัน ที่แผลเล็กกว่า เจ็บน้อยกว่าและหายเร็วกว่า ผู้ป่วยท่านใดที่ต้องการสอบถามรายละเอียดการผ่าตัดส่องกล้องสามารถเข้ารับการปรึกษาได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก "ผ่าตัดปอด" www.facebook.com/search/top/?q=ผ่าตัดปอด หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ @lungsurgeryth