อาการแบบไหน?…เสี่ยงเป็น "เนื้องอกต่อมใต้สมอง"

ข่าวทั่วไป Monday March 14, 2022 10:19 —ThaiPR.net

อาการแบบไหน?…เสี่ยงเป็น

อาการแบบไหน??เสี่ยงเป็น "เนื้องอกต่อมใต้สมอง"

ต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) เป็นต่อมที่อยู่ใต้สมองส่วนหน้าใกล้ๆ กับเส้นประสาทตา มีหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนหลายชนิดให้แก่ต่อมไร้ท่อทั่วร่างกาย เพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้สมดุล ถ้าผู้ป่วยมีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง จะทำให้ฮอร์โมนเหล่านี้บางชนิดถูกสร้างขึ้นมามากกว่าปกติ หรือฮอร์โมนบางชนิดอาจถูกสร้างลดลง ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามมาได้

เนื้องอกต่อมใต้สมองเกิดจากการเติบโตของเซลล์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ก่อตัวเป็นเนื้องอกในต่อมใต้สมอง สาเหตุของการเติบโตที่ผิดปกตินี้ยังไม่แน่ชัด ซึ่งส่วนใหญ่เนื้องอกชนิดนี้มักไม่ใช่เนื้อร้าย (มะเร็ง) และไม่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

อาการของเนื้องอกต่อมใต้สมองจะแตกต่างกันไปตามฮอร์โมนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงขนาดและการกดทับของเนื้องอกในบริเวณต่างๆ โดยสามารถทำให้มีอาการได้ 2 แบบหลักๆ คือ

  • อาการที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) สูงผิดปกติ จะทำให้มีอาการน้ำนมไหล, ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ จะทำให้รอบเดือนผิดปกติ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือหมดความต้องการทางเพศ, เนื้องอกต่อมใต้สมองผลิต Growth hormone (ฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญเติบโต) ออกมามากกว่าปกติ จะทำให้รูปร่างสูงใหญ่กว่าคนปกติมากถ้าเป็นโรคนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าเป็นหลังจากร่างกายหยุดเติบโตแล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะโครงสร้างของใบหน้า มือและเท้าจะใหญ่ขึ้น, ฮอร์โมนไทรอยด์หลั่งออกมามากผิดปกติจะทำให้มีอาการมือสั่น น้ำหนักลด ท้องเสีย, ฮอร์โมนกลุ่มคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดภาวะคุชชิ่ง (Cushing's syndrome) จะมีอาการแขนขาเล็ก อ้วนลงพุง อ่อนเพลียและผมร่วง
  • อาการที่เกิดจากเนื้องอกไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น ถ้าไปกดเบียดเส้นประสาทการมองเห็น จะทำให้เกิดอาการตามัว ลานสายตาแคบลง หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด หรือถ้าไปกดเบียดเยื่อหุ้มสมองจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หรือเนื้องอกกดเบียดเนื้อสมองจะทำให้เกิดอาการชักได้

การรักษาเนื้องอกต่อมใต้สมองขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และการเจริญเติบโตของเนื้องอก ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย หากก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กมากและไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ อาจไม่ต้องรักษา แต่จำเป็นต้องตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อสังเกตการเจริญเติบโตของเนื้องอก แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีการผ่าตัด (ถ้าหากไม่มีข้อห้ามของการผ่าตัด) เนื่องจากการผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้

การผ่าตัดเนื้องอกต่อมใต้สมองในปัจจุบันจะใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้อง (Endoscopic) ผ่านทางโพรงจมูก โดยการสอดกล้องที่มีลักษณะเป็นแท่งขนาดเล็กผ่านโพรงจมูกเข้าไปในบริเวณสมองที่ต้องการผ่าตัด และด้วยความละเอียดของกล้องทำให้แพทย์สามารถมองเห็นเนื้องอกในจุดที่ลึกได้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องเปิดแผลผ่าตัด ลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน ลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ และใช้ระยะเวลาพักฟื้นไม่นาน

** หากมีอาการสงสัยและคิดว่าจะเป็นโรคนี้แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้นและไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร แต่หากตรวจพบได้เร็วและทำการรักษาเพื่อทำให้ระดับฮอร์โมนกลับมาใกล้เคียงกับคนปกติก็จะช่วยลดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ลงได้

รักษาเนื้องอกต่อมใต้สมองไม่ใช่ที่ไหนก็ได้ "ศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกต่อมใต้สมอง โรงพยาบาลรามคำแหง" อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/readcenter_clinic/50


แท็ก สมอง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ