อาจารย์คณะวิทย์ฯ จุฬาฯ พัฒนาเสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาติ ยืดหยุ่นสูง ซับแรงกระแทก ลดแรงปะทะ คืนตัวกลับทันทีเมื่อถูกทับ เริ่มทดลองใช้แล้ว หวังทดแทนเสาจราจรพลาสติกในไม่ช้า
เสาจราจร เสาแท่งกลมสีส้มสลับแถบสะท้อนแสงสีขาว เป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยจัดระเบียบการจราจรบนท้องถนนให้ผู้ขับขี่อยู่ในช่องทางที่ถูกต้องและเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้นในยามค่ำคืน แต่หลายครั้ง เสาสีส้มแถบขาวเหล่านี้ก็ถูกชนจนแตกหัก เศษชิ้นส่วนกระเด็นกีดขวางถนน ทำให้ผู้ขับขี่ต้องหลบเลี่ยงจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนได้
ปัญหาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นให้รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นและผลิต "เสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาติ" ผลงานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และบริษัท สยามยูไนเต็ด รับเบอร์ จำกัด
"เสาจราจรที่ใช้กันอยู่นั้นมักทำมาจากพลาสติก มีน้ำหนักเบา จึงแตกหักง่ายและล้มลงเมื่อโดนรถชนหรือกระแทก เราจึงพัฒนาเสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นและซับแรงกระแทกได้ดีกว่า"
ยางธรรมชาติสร้าง "เสาจราจรล้มลุก"
รศ.ดร.ศิริลักษณ์ กล่าวว่าเสาจราจรในปัจจุบันส่วนใหญ่ทำมาจากพลาสติก น้ำหนักเบาและมีความเปราะ ไม่อาจช่วยลดแรงกระแทกได้มากนัก แม้จะมีเสาจราจรที่ทำจากวัสดุอื่นที่มีสมบัติทนทานมากกว่า เช่น พอลิยูรีเทน (Polyurethane) หรือ เทอร์มอพลาสติกพอลิยูรีเทน (Thermoplastic polyurethane) แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมเนื่องด้วยมีราคาสูง ดังนั้น ยางธรรมชาติจึงดูเป็นวัสดุที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาเป็นเสาจราจร
"ยางพาราหรือยางธรรมชาติมีความยืดหยุ่นสูง สามารถคืนตัวกลับได้ทันทีเมื่อถูกรถเหยียบทับหรือเฉี่ยวชน นอกจากนี้ ยางธรรมชาติยังมีความสามารถในการดูดซับแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประสบอุบัติเหตุด้วย"
อย่างไรก็ดี ยางธรรมชาติก็มีจุดอ่อน คือเมื่อโดนแสงแดดและความร้อนเป็นเวลานานจะเกิดรอยแตก ซึ่ง รศ.ดร.ศิริลักษณ์ ก็ได้พยายามทดลองและปรับสูตรเพื่อกำจัดจุดอ่อนตรงนี้
"เราปรับสูตรเคมีอยู่เป็นเวลานานจนได้เสายางพาราที่มีความยืดหยุ่นสูง ทนแรงปะทะได้ดี มีน้ำหนักมากพอที่จะรับแรงกระแทกและคืนตัวกลับได้ทันทีเมื่อถูกรถเหยียบทับหรือเฉี่ยวชน และที่สำคัญ ทนต่อสภาพอากาศและรังสี UV ด้วย"
ผลการทดสอบการใช้เสาจราจรล้มลุก
รศ.ดร.ศิริลักษณ์ ออกแบบการทดสอบประสิทธิภาพของเสาจราจรล้มลุก โดยให้รถน้ำหนัก 1 ตัน วิ่งด้วยความเร็ว 30, 50 และ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เข้าชนและทับเสาจราจรล้มลุกซ้ำๆ จำนวน 90 ครั้ง จากนั้นก็มีการทดสอบให้รถขนาดน้ำหนัก 5 ตัน วิ่งชนและทับเสาล้มลุกด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นจำนวน 10 ครั้ง
"ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ เมื่อรถชนเสาจราจร เสาล้มลงไปกับถนน จนเมื่อรถขับพ้นเสาจราจรไปแล้ว เสาก็เด้งคืนตัวกลับมาอย่างเดิม ไม่แตก ทิ่มแทง หรือสร้างรอยขีดข่วนกับยานพาหนะมากนัก เพิ่มความปลอดภัยในการจราจรและช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ"
ปัจจุบัน มีการนำร่องใช้เสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาติบนทางด่วนศรีรัชและทางด่วนพระราม 7 เพื่อทดสอบระยะเวลาการใช้งานจริง และเป็นการเก็บผลการทดลองไปด้วย
ต่อยอดยางธรรมชาติเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน
นอกจาก "เสาจราจรล้มลุก" รศ.ดร.ศิริลักษณ์ เล็งเห็นศักยภาพของยางธรรมชาติที่จะนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความอุ่นใจให้ผู้ใช้รถใช้ถนนในอนาคต อาทิ แผงกั้น (barrier) บริเวณทางโค้งขึ้นลานจอดรถ หรือบริเวณลานจอดรถที่แคบๆ ซึ่งแผงกั้นที่ทำจากยางธรรมชาติจะช่วยลดแรงปะทะระหว่างยานพาหนะกับผนังลานจอดรถ รวมถึงไม่ก่อให้เกิดรอยขีดครูดลึกที่ยานพาหนะได้
"ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตยางธรรมชาติในโลก การนำยางธรรมชาติมาพัฒนาและผลิตอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนนับเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าผลิตผลภายในประเทศและช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย" รศ.ดร.ศิริลักษณ์ ฝากทิ้งท้าย
ผู้สนใจเสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาติ สามารถติดต่อได้ที่บริษัท สยามยูไนเต็ดรับเบอร์ จำกัด หรือประสานผ่าน รศ.ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ทางอีเมล Sirilux.P@chula.ac.th