กทม.ให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด 19 กลุ่มสีเขียว เข้ารับการรักษาตามแนวทาง "เจอ แจก จบ"

ข่าวทั่วไป Tuesday March 15, 2022 15:29 —ThaiPR.net

กทม.ให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด 19 กลุ่มสีเขียว เข้ารับการรักษาตามแนวทาง

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการนำผู้ติดเชื้อโควิด 19 กลุ่มสีเขียวในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของ กทม. แบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน ตามแนวทาง "เจอ แจก จบ" ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า โรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้เปิดให้บริการคลินิก Covid Self Isolation เฉลี่ยวันละ 500 - 600 คน โดยประชาสัมพันธ์การปรับเปลี่ยนแนวทางการดูแลรักษาตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 จะไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ตามความสมัครใจ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินอาการจะแจ้งรายละเอียดการแยกกักตัวรักษาที่บ้าน (HI) และจ่ายยาบรรเทาอาการให้ผู้ป่วย หากมีอาการแย่ลง ผู้ป่วยสามารถติดต่อกลับมายัง รพ. ได้ทันที เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาในแบบที่เหมาะสมตามดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ให้ความร่วมมือและสนใจเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอก "เจอ แจก จบ" ใน รพ.สังกัด กทม. แสดงให้เห็นว่า กทม.สามารถดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 หรือผู้ป่วยโรคอื่นเพิ่มขึ้นได้ ช่วยให้ระบบสาธารณสุขมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังได้สร้างความเข้าใจให้ประชาชนและผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่เข้ารับบริการในระบบผู้ป่วยนอก (OPD) หรือคลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ของ รพ. ในสังกัด กทม.ตามแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ของ สธ. แบบ "เจอ แจก จบ" โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษาและการจ่ายยาตามระดับอาการ วิธีปฏิบัติตนในการดูแลตนเอง รวมทั้งระบบการติดตามอาการและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาใน รพ. หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น ซึ่งผู้ป่วยได้ยืนยันผลติดเชื้อด้วย Antigen Test Kit (ATK) แล้ว และได้รับการประเมินแล้วพบว่า ไม่มีอาการ หรือความเสี่ยงจากปัจจัยต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ โดยให้การรักษาเป็นผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอน รพ. เมื่อขอเข้ารับการรักษาในระบบแล้ว แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการของผู้ติดเชื้อ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการและเชื่อมโยงเข้าสู่โรคที่ดูแลรักษาได้ด้วยตนเอง

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้เริ่มดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 แบบผู้ป่วยนอกร่วมกับการแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self isolation) ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.65 โดยประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง โดยผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ตรวจพบเชื้อด้วย ATK ด้วยตนเอง หรือตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข สามารถติดต่อ เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาได้ผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ หมายเลขโทรศัพท์ 1330 หมายเลขโทรศัพท์ของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินสำนักงานเขต (Emergency Operation Center : EOC) เขต LINE @สปสช. และ QR CODE ของ สปสช. หรือรับการตรวจคัดกรองที่คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง หากผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการและไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมที่สำคัญ จะได้รับการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self isolation) และได้รับยาบรรเทาอาการ หรือยาฟ้าทะลายโจร ตามแนวทาง "เจอ แจก จบ" พร้อมกับการติดตามอาการผู้ติดเชื้อโควิด 19 เมื่อครบ 48 ชั่วโมง หลังจากเข้าสู่ระบบ หากมีอาการแย่ลง ผู้ป่วยสามารถติดต่อกลับมายังศูนย์บริการสาธารณสุขได้ทันที และเข้าสู่ระบบการรักษาแบบ Home Isolation Hotel Isolation Hospitel Community Isolation หรือ รพ.ตามดุลยพินิจของแพทย์

นอกจากนี้ สำนักอนามัยยังได้เร่งจัดจ้างบุคลากรสนับสนุนการดำเนินงานดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 รวมถึงชี้แจงแนวทางการดำเนินงานในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ของศูนย์ EOC โดยสำนักงานเขตรับลงทะเบียนผู้ติดเชื้อโควิด 19 เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล การบริหารจัดการผู้ป่วยในระบบ portal ของ สปสช. เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลจากหน่วยบริการต่าง ๆ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบตามความเหมาะสม ทั้งการดูแลผู้ป่วยนอกร่วมกับแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self isolation) และการดูแลแบบ Home Isolation รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ ได้แก่ สนับสนุนการจัดส่งอุปกรณ์ ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องผลิตออกซิเจนในกรณีเร่งด่วน รวมทั้งบูรณาการร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมดำเนินการให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 เข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ