กทม.จับมือสพฐ. เปิดรับนักเรียน ม.1 แบบสหกิจ แก้ไขปัญหาเด็กล้นห้องเรียน

ข่าวทั่วไป Thursday March 13, 2008 09:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--กทม.
กทม. จับมือสพฐ. จัดการศึกษาแบบสหกิจ เปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แบบคู่พี่ — น้อง คาดแก้ปัญหาเด็กไม่มีที่เรียน ยกระดับมาตรฐานทางการศึกษา ส่งเสริมเด็กเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน
นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ รองปลัดกรุงเทพมหาคร พร้อมด้วย นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แถลงความร่วมมือการจัดการศึกษารูปแบบสหกิจระหว่างกรุงเทพมหานคร กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยกล่าวว่า กรุงเทพมหานครร่วมกับ สพฐ. จัดการศึกษาเพื่อรองรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หรือเรียกว่า การจัดการศึกษารูปแบบสหกิจ ระหว่างโรงเรียนของกรุงเทพมหานครและ สพฐ. ในการรับนักเรียนและร่วมมือกันพัฒนาให้มีสถานศึกษาที่ดีมีคุณภาพ สามารถให้บริการการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง แก้ปัญหา เด็กแย่งกันเข้าเรียนในในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง มุ่งสู่นโยบายเรียนดี เรียนฟรี อย่างมีคุณภาพ นักเรียนสามารถเรียนโรงเรียนใกล้บ้านได้
สำหรับการรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปีนี้กรุงเทพมหานครเปิดรับนักเรียนเพิ่มอีก 20 แห่ง รวมเป็น 93 แห่ง สามารถรองรับนักเรียนเพิ่มได้ 3,360 คน รวมเป็น 12,000 คน โดยในปีนี้โรงเรียนกรุงเทพมหาครจะเปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พร้อมกับโรงเรียนสังกัด สพฐ. คือในวันที่ 14 มี.ค.นี้ โดยเปิดรับสมัครร่วมกันตามโครงการโรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง เช่น การเปิดรับสมัครเด็กเข้าเรียนของโรงเรียนเทพศิรินทร์ สังกัด สพฐ. จะตั้งโต๊ะเปิดรับสมัครเด็กเข้าเรียน ร่วมกับโรงเรียนวัดชัยมงคล สังกัด กทม. ควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนตามโครงการเดียวกัน อาทิ โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ - โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา โรงเรียนศรีอยุธยา — โรงเรียนกิ่งเพชร โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี — โรงเรียนวิชูทิศ โดยจะมีการให้ข้อมูลโรงเรียนตามโครงการควบคู่ไปด้วยทั้งนี้ในวันรับสมัครจะมีเจ้าหน้าที่ คอยชี้แจงแนะนำผู้ปกครองนักเรียนให้ทราบถึงโรงเรียนที่มีคุณภาพในโครงการกรณีที่พลาดหวัง จากโรงเรียนที่ตั้งใจสมัคร ซึ่งหากผู้ปกครองและนักเรียนไม่เลือกที่เรียน สพฐ.ยืนยันว่าจะสามารถจัดที่นั่งเรียนให้ได้ทุกคนอย่างแน่นอน
ด้าน นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงปัญหาเด็กนักเรียนเกินจนเป็นปัญหาในการจัดหาที่เรียนนั้น ส่วนหนึ่งมาจากเด็กนักเรียนจากโรงเรียนรอบนอก เช่น ปทุมธานี นนทบุรี ที่เข้ามาสมัครเรียนในโรงเรียนดังกล่าว โดยในทุกปีมักเกิดปัญหาในโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ เขต 2 ได้แก่ เขตห้วยขวาง บางเขน ดอนเมือง จตุจักร บางกะปิ ลาดพร้าว สายไหม หลักสี่ บึงกุ่ม ประเวศ มีนบุรี และลาดกระบัง ที่มีการแข่งขันสูงมีปัญหามาก มีจำนวนเด็กเยอะและต้องการที่เรียนในโรงเรียนดัง เช่น โรงเรียนบดินเดชาฯ โรงเรียนหอวังและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาฯ เป็นต้น จากความร่วมมือตามโครงการดังกล่าว คาดว่าในปีนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาเด็กแย่งที่เรียนได้ส่วนหนึ่ง
รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวต่อไปว่า จากความร่วมมือระหว่าง สพฐ และกทม. 1 ปีที่ผ่านมานับว่าประสบความสำเร็จ สามารถยกระดับการศึกษา มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน โดยในปี 2551 จะมีการขยายการจับคู่โรงเรียน เป็นโรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง เพิ่มขึ้นอีกรวมเป็น 151 โรงเรียน และจะมีการประสานโรงเรียนเอกชนเข้าร่วมโครงการฯ ด้วย นอกจากนี้จะมีการขยายโครงการไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยคุณหญิงวรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาในการจัดการรูปแบบ “สหกิจ” กับ นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 มี.ค.50 ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาการรองรับนักเรียน โดยใช้รูปแบบการจัดการศึกษาแบบสหกิจ และร่วมกันพัฒนาให้มีสถานศึกษาทีดีมีคุณภาพที่สามารถให้บริการการศึกษาได้อย่างทั่วถึง เสมอภาคและเป็นธรรม สามารถแก้ไขปัญหาการรองรับนักเรียนในจุดวิกฤต รองรับการขยายตัวของชุมชนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

แท็ก สพฐ.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ