โพลชี้ คุณธรรมสังคมไทยยังวิกฤติ เหตุคนกรุงรับได้ หากรัฐบาลใดโกงกินแล้วทำให้ตนเองอยู่ดีมีสุข

ข่าวทั่วไป Thursday March 13, 2008 10:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--ศูนย์คุณธรรม
โพลชี้ คุณธรรมสังคมไทยยังวิกฤติ เหตุคนกรุงรับได้ หากรัฐบาลใดโกงกินแล้วทำให้ตนเองอยู่ดีมีสุข ขณะที่เด็กไทยมีพฤติกรรมเลียนแบบตามนักการเมืองระดับผู้นำประเทศ
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. น.ส.นราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) เปิดเผยว่า ศูนย์คุณธรรม ร่วมกับศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 3 เรื่อง "สำรวจสถานภาพคุณธรรมของประชาชนในสังคมไทย" โดยการศึกษาครั้งนี้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งแบ่งพื้นที่ในการสำรวจออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. ประชาชนทั่วไปในภูมิภาคต่าง ๆ 18 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเก็บข้อมูลจำนวน 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 4,500 ตัวอย่าง และ 2. ประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเก็บข้อมูลจำนวน 5 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2,500 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินการสำรวจในระหว่างเดือน พ.ค.2550 ถึงก.พ. 2551 ทั้งนี้ผลการสำรวจพบว่า คุณธรรมโดยรวมของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะคุณธรรมด้านความรักชาติ 77.1 — 78.6 คะแนน และจิตอาสา 69.1 — 72.8 คะแนน ส่วนคุณธรรมด้านความซื่อสัตย์สุจริตคิดเป็น 62.4 — 72.3 คะแนน ความรับผิดชอบ 67.4 — 72.1 คะแนน และความขยันหมั่นเพียร 67.6 — 70.3 คะแนน ซึ่งผลการสำรวจสะท้อนว่าคุณธรรมทั้ง 3 ด้านของคนไทยเริ่มมีแนวโน้มที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามคุณธรรมด้านความมีสติสติสัมปชัญญะ 61.7 — 65.4 คะแนน และด้านความมีวินัย 62.7 — 67.8 คะแนน ถือเป็นคุณธรรมที่มีค่าคะแนนอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคุณธรรมด้านอื่น ๆ
น.ส.นราทิพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการศึกษาความเอนเอียงของความคิดเห็นและพฤติกรรมในคุณธรรมของประชาชนดังนี้ 1.ความมีวินัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่มีความเอนเอียงที่จะไม่ยอมให้ข้อห้าม ข้อบังคับเล็กๆ น้อยๆ ของสังคมมาเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต 2. ความรับผิดชอบ พบว่า กลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่มีความเอนเอียงที่หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นจะร่วมหาผู้รับผิดชอบให้ได้โดยยกเว้นตัวเอง 3. ความซื่อสัตย์สุจริต เฉพาะในพื้นที่ 18 จังหวัด พบว่า กลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี กลุ่มที่สำเร็จการศึกษาสูงสุดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ และประชาชนตัวอย่างในกทม.ที่มีอายุระหว่าง 20 - 29 ปี กลุ่มที่สำเร็จการศึกษาสูงสุดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และกลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง10,000—14,999 บาทมีความเอนเอียงที่จะยอมรับได้หากรัฐบาลชุดใดโกงกินแล้วทำให้ตนเองอยู่ดีมีสุข กลุ่มตัวอย่างอายุต่ำกว่า 20 ปี ส่วนใหญ่มีความเอนเอียงที่จะยอมรับได้เรื่องการกินตามน้ำหรือกินหัวคิว 4.ความมีสติสัมปชัญญะ พบว่า กลุ่มนักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่มีความเอนเอียงที่จะทำสิ่งต่างๆ ตามกระแสสังคมในทุกเรื่อง 5. ความมีจิตอาสา พบว่า กลุ่มนักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่จะรู้สึกเขินอายเมื่อช่วยเหลือผู้อื่น 6. ความขยันหมั่นเพียร พบว่า กลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี กลุ่มนักเรียน นักศึกษา กลุ่มผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่มีความเอนเอียงที่จะเป็นคนประเภททำงานตามอารมณ์ และ 7. ความรักชาติ พบว่า กลุ่มนักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่มีความเอนเอียงที่คิดว่าปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องของคนใต้ไม่เกี่ยวกับตนเอง
" จากผลโพลสำรวจเรื่องเด็กไทยขาดสติสัมปัชชัญะ สะท้อนชัดเจนว่าเด็กไทยไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง คอยคิด ทำตามกระแส เชื่อและทำทุกอย่างตามคำโฆษณาชวนเชื่อ เรื่องนี้น่าเป็นห่วงมากเด็กทำทุกอย่างตามกระแสหมด ที่สำคัญเด็กจะคิดและทำตามคนที่เป็นผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ผู้นำประเทศ นักการเมือง ดังนั้น หากผู้ใหญ่เป็นต้นแบบไม่ดีเด็กพร้อมจะทำตามด้วย ขณะนี้คนไทยจึงตกอยู่ในอาการป่วยไข้ เด็กคิดเองไม่ได้ สังคมอ่อนแอ ซึ่งตนเห็นว่าปัญหาทั้งหมดมีต้นตอมาจากปัญหาครอบครัว เพื่อหาทางออกเรื่องนี้ ทางศูนย์คุณธรรม ในฐานะหน่วยงานที่หากระบวนการแก้ปัญหาสังคม จะจัดเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนงานวิจัยโครงการประชุมวิชาการ "เปิดขอบฟ้าคุณธรรมจริยธรรม" ในวันที่ 28-29 สิงหาคม 2551 ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป" ผอ.ศูนย์คุณธรรม กล่าว
ข้อมูลประชาสัมพันธ์เพื่มเติม
ติดต่อ คุณประมวล โทร 02-6449900 ต่อ 301-302
คุณอาภาภรณ์ / คุณวันนิษา 081-5508412

แท็ก คุณธรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ