คน กทม. อยากได้ผู้ว่า กทม. และ สก. ที่มีความซื่อสัตย์โปร่งใส อยากให้แก้ปัญหาคอรัปชั่น 32.2 % คิดว่ายังไม่มีบุคคลที่เหมาะสมที่จะเลือกเป็นผู้ว่า กทม.

ข่าวทั่วไป Thursday March 17, 2022 10:20 —ThaiPR.net

คน กทม. อยากได้ผู้ว่า กทม. และ สก. ที่มีความซื่อสัตย์โปร่งใส อยากให้แก้ปัญหาคอรัปชั่น 32.2 % คิดว่ายังไม่มีบุคคลที่เหมาะสมที่จะเลือกเป็นผู้ว่า กทม.

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,143 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 5 - 9 มีนาคม 2565 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เนื่องจากการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เสียงสะท้อนของคนกรุงเทพมหานครในด้านปัญหาต่างๆ ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ 1. กำหนดนโยบายและบริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย 2. สั่ง อนุญาต อนุมัติ เกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร 3. แต่งตั้งและถอดถอน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งและถอดถอนผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใดๆ 4. บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย 5. วางระเบียบเพื่อให้งานของกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร 6. อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 และกฎหมายอื่นๆ ในส่วนของของสภากรุงเทพมหานคร เป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ และมีอำนาจตรวจสอบติดตามการบริหารของฝ่ายบริหาร ด้วยการตั้งกระทู้ถาม เสนอญัตติ เปิดอภิปรายทั่วไป และโดยเฉพาะการทำหน้าที่ผ่านคณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานคร  ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้  

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากได้ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีคุณสมบัติที่มีความซื่อสัตย์โปร่งใสมากที่สุด ร้อยละ 26.2 อันดับสองคือมีการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ ร้อยละ 16.5 อันดับสามคือมีความขยันทุ่มเทในการทำงาน ร้อยละ 16.2 อันดับสี่คือมีการปฏิบัติงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ร้อยละ 13 และอันดับห้าคือมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ร้อยละ 10.2

อยากได้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่มีคุณสมบัติที่มีความซื่อสัตย์โปร่งใสมากที่สุด ร้อยละ 29.6 อันดับสองคือมีความขยันทุ่มเทในการทำงาน ร้อยละ 20.1 อันดับสามคือมีการปฏิบัติงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ร้อยละ 14.3 อันดับสี่คือมีการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ ร้อยละ 13.9 และอันดับห้าคือมีการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ร้อยละ 8.4

ในส่วนของนโยบายที่อยากให้ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญอันดับหนึ่งคือ ด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต ร้อยละ 27.4 อันดับสองคือด้านศิลปวัฒนธรรมและการพัฒนาเมือง ร้อยละ 15.9 อันดับสามคือด้านความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 14.7 อันดับสี่คือด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมอาชีพ ร้อยละ 14 และอันดับห้าคือด้านการจราจรและขนส่งมวลชน ร้อยละ 12.3

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนมากที่สุด อันดับหนึ่งคือ ปัญหาการคอรัปชั่น ร้อยละ 33.3 อันดับสองคือ ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย ร้อยละ 12.8 อันดับสามคือ ปัญหาสถานบริการฝ่าฝืนกฎหมาย ร้อยละ 10.6 อันดับสี่คือ ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 10.1 และอันดับห้าคือ ปัญหาการจัดการน้ำเสีย ร้อยละ 9.7

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจในการเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จากกลุ่มหรือพรรคการเมืองร้อยละ 35.2 รองลงมาคือตัวผู้สมัคร ร้อยละ 32.5 และนโยบายการพัฒนา กทม ร้อยละ 32.3      

คิดว่าการเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ควรมาจากกลุ่มหรือพรรคการเมืองเดียวกัน ร้อยละ 30.9 ไม่มาจากกลุ่มหรือพรรคการเมืองเดียวกัน ร้อยละ 30.1 และยังไม่แน่ใจว่าจะตัดสินใจอย่างไรมากที่สุด ร้อยละ 39.0

และคิดว่าบุคคลใดเหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมากที่สุด อันดับที่หนึ่งคือ ยังไม่มีบุคคลที่เหมาะสม ร้อยละ 32.2 อันดับสองคือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร้อยละ 16.2 อันดับสามคือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ 15.1 อันดับสี่คือ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ร้อยละ 12.3 อันดับห้าคือ นางสาวรสนา โตสิตระกูล ร้อยละ 11.9


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ