มนัญญา ลงพื้นที่จ.เชียงใหม่ตรวจเยี่ยมโครงการเกษตรวิชญา ปลื้มผลงานวิจัยพันธุ์พืชไม้ผล ไม้ยืนต้นเมืองหนาว และเทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตร ช่วยแก้ปัญหาศัตรูพืช พร้อมสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงได้กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ สามารถพึ่งพาตนเองและเป็นต้นแบบการผลิตพืชบนพื้นที่สูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างเยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการเกษตรวิชญา ณ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ในพื้นที่สวนบ้านกองแห หมู่ที่4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการในลักษณะคลินิกเกษตร เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนเป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งการดำเนินงานตามโครงการเกษตรวิชญา ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จ.เชียงใหม่ (สวพ.1) ดำเนินการภายใต้แนวคิด "ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูงตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง และขยายผลถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพืชบนพื้นที่สูงสู่เกษตรกร
ในปี 2561-2565 สวพ.1 ได้ดำเนินการจัดทำแปลงสาธิตต้นแบบการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นเมืองหนาว ด้วยการใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร โดยการใช้พันธุ์พืชที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่สูง ได้จัดทำแปลงต้นแบบการปลูกมะคาเดเมีย (พันธุ์เชียงใหม่ 400 พันธุ์เชียงใหม่ 700) จำนวน 1.5 ไร่ แปลงต้นแบบการปลูกโกโก้ พันธุ์ชุมพร 1 จำนวน 1 ไร่ แปลงต้นแบบการปลูกอะโวคาโด จำนวน 1.5 ไร่ แปลงต้นแบบการปลูกพลับ จำนวน 1.5 ไร่ และแปลงต้นแบบการปลูกเกาลัดจีน จำนวน 0.5 ไร่ รวมพื้นที่ 6 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้การทำการเกษตรบนพื้นที่สูง ปี 2564 มีเกษตรกร และผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชม จำนวน 234 ราย
ในปี 2565 เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอะราบิกาในพื้นที่ พบปัญหามอดกาแฟทำลายผลผลิตกาแฟ จึงได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้เรื่อง การจัดการมอดกาแฟแบบผสมผสาน ให้กับเกษตรกรในพื้นที่จำนวน 20 ราย เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการผลิตกาแฟอะราบิกาต่อไป และจัดทำแปลงต้นแบบขยายผลถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร จำนวน 15 ราย โดยเป็นเกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโดและกาแฟอะราบิกา จำนวน 15 ราย เทคโนโลยีที่นำไปขยายผล ได้แก่ การเปลี่ยนยอดพันธุ์อะโวคาโดพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับพื้นที่ จำนวน 12 ราย และการจัดการมอดกาแฟแบบผสมผสาน
ด้านการพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตร ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชปลอดภัย การใช้ สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตพืชที่ดีและเหมาะสม (GAP) ชนิดพืช หอมหัวใหญ่ คะน้า กะหล่ำปลี ชาโยเต้ มะเขือเทศ แตงกวา สตรอเบอรี่ ฟักทอง พริกหวาน และอะโวคาโด จำนวน 65 ราย
"ผลจากการดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตรทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโด ในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนอะโวคาโดพันธุ์ดีสามารถเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพและมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจำนวน 40 รายที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและขายได้ในราคาที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นต้นแบบในการผลิตพืชบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว