องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2050 ทั่วโลกจะมีประชากรกว่า 50% หรือประมาณ 5,000 ล้านคน จะเป็นผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น และประมาณ 900 ล้านคนจะมีปัญหาสายตาสั้นมากกว่า 500 (หรือค่าสายตา -5.00 diopter) ขึ้นไป ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล ออกนอกบ้านน้อยลง จดจ่อกับโทรศัพท์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์มากขึ้น รวมถึงพันธุกรรมจากพ่อแม่ที่สายตาสั้นทั้งคู่ จะส่งผลให้ลูกมีโอกาสสายตาสั้น สูงกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า
พญ. ฐาริณี กุลกำม์ธร จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า สายตาผิดปกติที่พบได้ทั่วไป แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง และสายตายาวสูงอายุ โดยภาวะสายตาสั้นเป็นปัญหาที่พบได้มากที่สุดในทุกเพศ ทุกวัย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในเด็กเล็กจนถึงเด็กวัยเรียน ซึ่งภาวะสายตาสั้น หรือ Myopia คือความผิดปกติในระบบหักเหแสงและรวมแสงของดวงตา โดยแสงจากวัตถุที่มองในระยะไกลจะโฟกัสก่อนถึงประสาทตา ทำให้ผู้ที่สายตาสั้นจึงมองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลเป็นภาพมัวๆ ไม่ชัด เนื่องจากกระบอกตายาวกว่าปกติ หรือกระจกตาโค้งมากกว่าปกติ อีกทั้งมักพบอาการสายตาเอียงร่วมกับสายตาสั้น โดยสถิติพบว่ากว่า 50% ของผู้มีปัญหาสายตา มักมีค่าสายตาเอียงร่วมด้วย ซึ่งสายตาเอียงเกิดจากการที่กระจกตามีความโค้งไม่เท่ากันในแต่ละแกน ทำให้เกิดจุดโฟกัส 2 จุด ไม่รวมเป็นภาพเดียว มีจุดหนึ่งโฟกัสที่ก่อนหรือหลังจอประสาทตา ทำให้ภาพที่เห็นจะทั้งเบลอและมีเงา หรือเป็นภาพซ้อน ซึ่งประสิทธิภาพการมองวัตถุแย่กว่าอาการสายตาสั้นหรือสายตาเอียงเพียงอย่างเดียว
ที่ผ่านมา ผู้มีปัญหาภาวะสายตาผิดปกติมักนิยมเลือกแว่นสายตาและคอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นการรักษาภาวะสายตาผิดปกติแบบชั่วคราว ในขณะเดียวกันวิทยาการใหม่ๆ และนวัตกรรมในการรักษาภาวะสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ ก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเป็นการรักษาแบบถาวรและเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีหลากหลายวิธี อาทิ
ทั้งนี้ จักษุแพทย์จะเป็นผู้ตรวจตาและวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อนที่จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสม พร้อมให้ข้อมูลรายละเอียดของวิธีการรักษาต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ที่มีภาวะสายตาผิดปกติและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมเฉพาะรายบุคคลเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในการรักษา
พญ. ฐาริณี กุลกำม์ธร กล่าวให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพตา ที่ผ่านมาเรามักจะละเลยความสำคัญในการถนอมดวงตา ซึ่งถือเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อนมากที่สุดอย่างหนึ่ง เนื่องจากอาจเสื่อมหรือบกพร่องจากเหตุปัจจัยต่างๆ ได้ เช่น อายุ อาชีพการงาน การเล่นกีฬา โภชนาการ สภาวะแวดล้อม และสุขภาพด้านอื่นของร่างกายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของตา เช่น โรคเบาหวาน โรคต้อกระจก ฯลฯ จึงควร 'ตรวจสุขภาพตา' เป็นประจำทุกปี โดยเริ่มตรวจได้ตั้งแต่วัยเด็กก่อนเข้าเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะทุกวันนี้มีแนวโน้มพบเด็กที่มีภาวะสายตาสั้นในอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ
ข้อควรปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คือ ควรจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา ทำให้ตาไม่แห้ง และควรพักสายตาจากการจ้องจอมอนิเตอร์เป็นเวลานานๆ โดยใช้หลัก 20 20 20 คือ ทุกๆ 20 นาที ของการมองใกล้ เช่น มือถือ คอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ โดยให้พักสายตาประมาณ 20 วินาที โดยมองไปที่ไกลในระยะ 20 ฟุต เพื่อคลายกล้ามเนื้อตา ทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่ปวดกล้ามเนื้อตา ที่สำคัญควรหาเวลาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างน้อย 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพราะจากการวิจัยระบุว่าแสงแดดจะสามารถป้องกันไม่ให้เด็กสายตาสั้นมาก เพราะในแสงแดดจะมีสารที่ไปยับยั้งไม่ให้ลูกตายาวเกินปกติ เพราะการที่ลูกตายาวเกินไปเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การโฟกัสตกก่อนจอประสาทตา ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่1378 หรือติดต่อศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00-20.00 น. ฮอตไลน์ 0-2 011 3886 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bumrungrad.com/th/treatments/relex-smile และ https://youtu.be/c7XP6FLfEk0