- สินเชื่อทะเบียนรถขยายตัวสูงท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 โดยบัญชีผู้กู้มีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่าตัว ยอดคงค้างสินเชื่อขยับขึ้น 45% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2562 ขณะที่อัตราส่วน NPL ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.62% ทำให้ในมุมผู้ให้บริการ ยังเห็นโอกาสในการขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2565 ประกอบกับการเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์สำหรับรายย่อย ทำให้ในมุมผู้ใช้บริการยังมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต
- อย่างไรก็ดี ด้วยแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่กลับทิศสู่ขาขึ้น ภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจที่ยังเผชิญโจทย์ซับซ้อนในการฟื้นตัว ดังนั้น การแข่งขันสินเชื่อทะเบียนรถในปี 2565 อาจมุ่งเน้นไปที่ความเร็วในการอนุมัติสินเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดล่างที่มีวงเงินกู้ต่อรายไม่สูง รวมถึงการแข่งขันด้านราคาด้วยการตรึงดอกเบี้ยไว้ในใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปหากเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสะดุดตัวลง
ภาพรวมสินเชื่อทะเบียนรถปี 2563-2564: ขยายตัวดีด้วยแรงหนุนในตลาดล่าง
หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามากำกับดูแลสินเชื่อทะเบียนรถและเริ่มรายงานสถิติสินเชื่อทะเบียนรถตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ประกอบกับในช่วงต้นปี 2564 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐขยายบริการสินเชื่อทะเบียนรถสำหรับลูกค้ารายย่อยในตลาดล่างและเป็นผู้นำตลาดที่ชี้นำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวลดลง ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ส่งผลให้จำนวนบัญชีผู้กู้และยอดคงค้างสินเชื่อทะเบียนรถเติบโตสูงในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 โดยมีการขยายฐานลูกค้าที่ครอบคลุมถึงกลุ่มทะเบียนรถจักรยานยนต์ พร้อมกับการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 18% ต่อปี (คำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ซึ่งเทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อเดือนไม่เกิน 0.8% ต่อเดือน หรือ 9.6% ต่อปี) จากเดิมที่ส่วนใหญ่เคยถูกเรียกเก็บในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดในอัตรา 24% ต่อปี
ณ สิ้นปี 2564 จำนวนบัญชีสินเชื่อทะเบียนรถเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่าตัวมาอยู่ที่ 4.20 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อคงค้างรวม 1.81 แสนล้านบาท หรือขยับขึ้นประมาณ 45% ในช่วง 2 ปีของวิกฤตโควิด-19 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2562 ขณะที่จำนวนหนี้เสีย (NPL) ในช่วงเดียวกันปรับตัวขึ้นเกือบสองเท่าตัว หรือ 100% เป็น 2.93 พันล้านบาท แต่ด้วยฐานสินเชื่อที่ใหญ่ขึ้นทำให้อัตราส่วน NPL ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.62%
การเติบโตที่รวดเร็วกว่าตลาดสินเชื่อผู้บริโภคโดยรวมท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อระดับรายได้ของครัวเรือนอย่างมีนัยสำคัญ ในมุมบวกกล่าวได้ว่า ประสบความสำเร็จตามเจตจำนงของทางการที่มุ่งช่วยให้ลูกค้ารายย่อยเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ดีขึ้นในจังหวะเวลาที่ยากลำบาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ไม่แน่นอนและมีความอ่อนไหวต่อปัญหาปากท้องซึ่งเดิมเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ รวมถึงลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อบางส่วนที่ร้อนเงินหรือต้องการวงเงินหมุนเวียนเพิ่มได้รีไฟแนนซ์สินเชื่อ ดังเห็นได้จากจำนวนบัญชีผู้กู้สินเชื่อทะเบียนรถที่เพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านบัญชี ในช่วงปี 2562-2564 ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่าได้รวมฐานลูกค้าบางส่วนที่เคยพึ่งพิงสินเชื่อนอกระบบด้วย
ทั้งนี้ ในมุมธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ ประกอบด้วยผู้ให้บริการ 2 กลุ่มหลัก คือ ธนาคาร และบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) อย่างไรก็ดี การเติบโตสูงของสินเชื่อทะเบียนรถในปี 2563-2564 เกิดจากธุรกิจในฝั่ง Non-Bank เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากมีผู้ให้บริการเข้าสู่ตลาดใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Non-Bank ที่มีฐานทุนขนาดใหญ่หนุนหลังจากการแยกธุรกิจของธนาคารเพื่อรุกสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนดี (High Yield) และ Non-Bank ที่มีความสามารถในการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ ขณะที่ธุรกิจในฝั่งธนาคารค่อนข้างทรงตัวด้วยกลยุทธ์การตลาดที่ยังคงมุ่งเน้นสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ รถกระบะ และรถบิ๊กไบค์ ในกลุ่มลูกค้าระดับกลางเป็นหลัก
ณ สิ้นปี 2564 | Bank | Non-Bank |
จำนวนผู้ให้บริการ | ประมาณ 4 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยธนาคารในกล่มธนาคารขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก | 63 บริษัท รวมบริษัทลูกแบงก์ และลูกแบงก์ที่แยกจับกลุ่มลูกค้าระดับล่าง |
ฐานลูกค้า | - 1.75 แสนบัญชี (เพิ่ม 6% จากปี 2562) - ลูกค้าระดับกลาง - รถยนต์ รถเพื่อการพาณิชย์ บิ๊กไบค์ | - กว่า 4 ล้านบัญชี (เพิ่ม 58% จากปี 2562) - ระดับกลาง และล่าง - รถยนต์ รถเพื่อการพาณิชย์ รถจักรยานยนต์ |
วงเงินสินเชื่อ | - 3.2 หมื่นล้านบาท (ลด 6% จากปี 2562) - วงเงินกู้เฉลี่ยต่อบัญชี 180,834 แสนบาท (ลดลงจาก 1.9 และ 2.0 แสนบาท ในปี 2563 และ 2562) | - 1.5 แสนล้านบาท (เพิ่ม 65% จากปี 2562) - วงเงินกู้เฉลี่ยต่อบัญชี 37,132 หมื่นบาท (เพิ่มขึ้นจาก 3..3 และ 3.6 หมื่นบาท ในปี 2563 และ 2562) |
แนวโน้มสินเชื่อทะเบียนรถปี 2565: โอกาสโตต่อ แต่มีประเด็นต้องติดตาม
เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 2564 แม้มีอุปสรรคที่อาจทำให้การฟื้นตัวยังไม่ราบรื่นและไม่ทั่วถึง ทั้งจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ยังไม่ยุติ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติและภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถในปี 2565 ดังนี้
แนวโน้มสินเชื่อมีโอกาสขยายตัวสูงที่ระดับ 15-20% เติบโตต่อเนื่องจากปี 2564 ที่เพิ่มขึ้น 20.4% YoY จากปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านความต้องการสินเชื่อและความพร้อมในการให้สินเชื่อ ดังนี้
ความต้องการกู้ยืมยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในตลาดล่างซึ่งเป็นฐานธุรกิจขนาดใหญ่ของฝั่ง Non-Bank ซึ่งเล่มทะเบียนรถช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของลูกค้าระดับล่าง รวมทั้งอาจได้รับวงเงินสินเชื่อสูงขึ้นในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทอื่น ทำให้มีความน่าสนใจและเป็นทางเลือกอันดับต้นของผู้กู้รายย่อยที่มีกรรมสิทธิ์ในรถ นอกจากนี้ ตลาดสินเชื่อทะเบียนรถอาจถือได้ว่าอยู่ในระยะแรกของการบุกเบิกและยังไม่อิ่มตัว เมื่อคำนึงถึงฐานบัญชีผู้กู้ที่อยู่ในระดับเพียง 4 ล้านบัญชี ขณะที่จำนวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศที่มีอยู่นับร้อยล้านคัน
การแข่งขันเชิงรุกของผู้ให้บริการโดยเฉพาะฝั่ง Non-Bank ยังเข้มข้นต่อเนื่อง โดยในปีนี้ภาพการแข่งขันมีหลายมิติด้วยกัน ทั้งการออกผลิตภัณฑ์มากขึ้น (รับรถหลายประเภทขึ้น และรับรีไฟแนนซ์หนี้) การเพิ่มช่องทางขอสินเชื่อ (เปิดสาขาเพิ่มครอบคลุมพื้นที่บริการเป้าหมายและใช้เป็นจุดขายด้านความใกล้ชิดและการรู้จักลูกค้าเพื่อให้ตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อได้เร็วขึ้น รวมทั้งพัฒนาช่องทางกู้บนแพลตฟอร์ม) การให้วงเงินกู้สูงขึ้น และการให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ขณะที่คาดว่าสินเชื่อทะเบียนรถในระบบธนาคารพาณิชย์คงประคองตัว จากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ สถานะความเป็นเจ้าของรถที่ชะลอลงในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยมีสินเชื่อเช่าซื้อรถจำนวนหนึ่งที่ขอเข้ามาตรการชะลอหนี้ ยืดหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้รถที่ปลอดภาระเข้าสู่ระบบลดลง รวมถึงแนวนโยบายเครดิตที่ยังคงความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องและการให้บริการลูกค้าที่ไม่ลงไปถึงตลาดล่าง
- นโยบายเครดิตที่ยืดหยุ่นขึ้น โดยเฉพาะในฝั่ง Non-Bank ซึ่งทำให้คาดว่าจะเห็นแนวทางการรับรีไฟแนนซ์หนี้และให้วงเงินกู้ใหม่เพิ่มมากขึ้น อันหมายถึงผู้กู้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น และต้องผ่อนชำระหนี้เป็นเวลานานขึ้น ขณะที่ผู้ให้กู้ มียอดสินเชื่อโตขึ้น และรับรู้รายได้ดอกเบี้ยได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งอาจช่วยลดความเสี่ยง NPL เฉพาะหน้าลง (หากรีไฟแนนซ์ให้ลูกหนี้เดิมของตนเอง)
- อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทะเบียนรถยังอยู่ในระดับค่อนข้างใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มีทิศทางเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากการแข่งขันที่สูงในระหว่างผู้ให้บริการ ประกอบกับเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง (High Yield) เมื่อเทียบกับต้นทุนเงินเฉลี่ย ความเสี่ยง และผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น โดยช่วงอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อทะเบียนรถมีความแตกต่างกันสูงมากอยู่ในช่วงตั้งแต่ 10-24% ต่อปี ตามประเภทรถ สถานะทางอาชีพและการเงินของผู้กู้ รวมทั้งประเภทผู้ให้บริการ (ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารอยู่ในระดับต่ำกว่า Non-Bank)